หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางานเชียงใหม่ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าโฆษณา
| ผ้าพันคอ | ของชำร่วย


cmprice.com ผ้าพันคอราคาถูก ราคาส่ง เชียงใหม่ ลำพูน

บทความ,เกร็ดความรู้ > งาน > test_job1 > มหา’ลัย มหาหลอก? เมื่อป.ตรีเตะฝุ่นทะลุแสน!
บทความ,เกร็ดความรู้ > งาน > test_job1 > มหา’ลัย มหาหลอก? เมื่อป.ตรีเตะฝุ่นทะลุแสน!
มหา’ลัย มหาหลอก? เมื่อป.ตรีเตะฝุ่นทะลุแสน!
test_job1
 
ทะลุแสน! คนไทยจบปริญญาตรีเตะฝุ่นมากที่สุด...เป็นหัวข้อข่าวที่กลายเป็นประเด็นทางสังคม และถูกตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา และทวงถามการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ เพราะที่ผ่านมา การศึกษาไทยมีแนวโน้มจะดําเนินงานในเชิงธุรกิจที่มุ่งแสวงหากําไรมากขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพการเรียนการสอน และถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นเรื่องเงินตรามากกว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น
       
        ร่ำเรียนแทบตาย สุดท้ายตกงาน!
       
        "มหาลัย มหาหลอก เด็กชายบ้านนอก เด็กหญิงบ้านนารํ่าเรียนรู้ในวิชา แต่จบออกมายังไม่มีงานทํา ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ออกเดินเดินเดินยํ่าสมัครงานสอบเท่าใดยังสอบไม่ผ่าน มันหัวปานกลาง เขาเอาแต่หัวดีๆ มีความรู้สู้เขาไม่ได้ เส้นเล็กเส้นใหญ่ เส้นก๋วยจั๊บไม่มี นามสกุลไม่สง่าราศี เป็นลูกตามี เป็นแค่หลานยายมา อนาคตคงหมดความหมาย"
       
        บทเพลง "มหาลัย" ของคาราบาว ที่สะท้อนถึงหัวอกบัณฑิตหลาย ๆ คนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
       
        ล่าสุด มีข้อมูลที่น่าตกใจจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีมติรับทราบสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตกงานมากที่สุดถึง 1.13 แสนคนเลยทีเดียว
       
        ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อาจบอกเป็นนัยๆ ว่า ใบปริญญาไม่สามารถเอาไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สมัครงานซึ่งทำได้ง่ายๆ เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว
       
        นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกระแสวิจารณ์ของผู้จ้างบัณฑิตถึงการไม่มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นเมื่อเข้าไปทํางานจริง ทําให้วันนี้สังคมไทยเริ่มตั้งคําถามเรื่องคุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยว่าสูงขึ้นหรือตกต่ำลงท่ามกลางปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมากของผู้จบการศึกษา ซึ่สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยในยุคปัจจุบันไปแล้ว
       
        ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้มีคนจบปริญญาตรีประมาณปีละ 5 แสนกว่าคน (ปี 2554 เป็นยุคปริญญาล้นประเทศ ซึ่งมีมากถึง 6 แสนคนเลยทีเดียว) ปัจจุบันมีบัณฑิตจบใหม่มากมายที่หางานทำไม่ได้ หรือบางคนที่รองานไม่ไหวก็ต้องไปทำงานไม่ตรงวุฒิ หรือต่ำกว่าวุฒิแทน 
       
        สำหรับสายที่ผลิตบัณฑิตล้นตลาดมากที่สุดคือ สายศิลป์ เช่น สังคมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นต้น รองลงมาเป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งคนที่เก่งจริง ๆ ถึงจะหางานได้ ส่วนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นสาขาที่จะมีตลาดงานรองรับแน่นอน เช่น แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เป็นต้น
       
        แย่ที่มหา'ลัย หรือห่วยที่ตัวบัณฑิต
       
        ปัญหาที่เกิดขึ้น มีหลายความเห็นแตกต่างกันออกไป บ้างก็โทษไปที่มหาวิทยาลัยว่าไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะผลิตบัณฑิตให้จบออกมาอย่างสอดคล้องกับตําแหน่งงานที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือตัวเลขว่างงานจำนวนมาก ๆ ในแต่ละปี เป็นเพราะบัณฑิตเองที่ไม่ขวนขวาย และพัฒนาคุณค่าให้ตัวเอง
       
        มาดูกันที่มหาวิทยาลัย หากมองในภาพความเป็นจริง หลาย ๆ แห่งมีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่รูปแบบธุรกิจการศึกษามากขึ้น ซึ่งบางแห่งเราคงต้องยอมรับว่า มีการฉวยโอกาสที่จะแสวงหากําไรจนบางครั้งอาจส่งผลต่อ คุณภาพทั้งระบบการเรียนการสอน ผู้เรียนและตัวบัณฑิตที่จบการศึกษา
       
        ดร.วิริยะ ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย แย่ง และแข่งกันรับนักเรียนให้เข้ามาเรียน แต่ไม่ได้พิจารณา และให้ความสำคัญกับรากฐานปรัชญาของความเป็นสถาบันแห่งสติปัญญาของสังคมที่จะผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดงานอย่างมีทักษะ
       
        "บางแห่งผลิตบัณฑิต 2 ล้อ เน้นแค่จำ และวิเคราะห์เป็น แต่ไม่ได้ออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กรู้จักวิธีสื่อสาร คิดสร้างสรรค์ ไม่แปลกที่บัณฑิตยุคใหม่หลายคนจะมีคุณสมบัติเป็นบัณฑิตที่เชื่อฟังอย่างยิ่งยวด เป็นหุ่นยนต์ที่ต้องคอยป้อนคำสั่งอย่างเดียว จบออกมาก็แบบซิกแซ็ก หวังว่าใบปริญญาจะช่วยการันตีได้ แต่เข้าไปทำงานแล้วกลับทำไม่ได้ตามคุณค่าที่การันตีในใบปริญญา เมื่อทำไม่ได้ ก็อยู่ไม่ได้ ตรงนี้อันตรายมากๆ" นักวิชาการด้านการศึกษาขยายความ
       
        คุณภาพไม่ถึง ใครเขาจะเอา!
       
        กระนั้น ใช่ว่าจะโทษมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว เพราะผู้ชี้ชะตาว่าจะตกงานหรือไม่ คือตัวผู้เรียนเอง โดยปัญหาใหญ่ ที่นักวิชาการด้านการศึกษาท่านนี้เป็นห่วง ก็คือ บัณฑิตหลายคนยังไม่รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร นี่คือตัวการสำคัญว่าทำไมบัณฑิตหลาย ๆ คนตกงาน และไม่มีงานทำ
       
        "เข้าปี 1 ก็หางานทำได้แล้ว แต่ปัญหาคือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร ประมาณว่า รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้เรื่องตัวเอง ทางที่ดี ไม่ใช่มัวแต่ เรียน สอบ และ เที่ยวไปวันๆ แต่ต้องรู้จักพัฒนาคุณค่าในตัวเองด้วย" นักวิชาการด้านการศึกษาคนเดียวกันเผย
       
        แต่เหนือสิ่งอื่นใด คนจะตกงานหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การเลือกสาขาไม่ตรง แต่อยู่ที่ตัวบัณฑิตเองว่า มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ต่อความต้องการในโลกการทำงานเพียงพอแล้วหรือไม่ เช่น ความขยัน ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
       
        ทางออก ลดบัณฑิตเตะฝุ่น
       
        สำหรับทางออกของเรื่องนี้ ดร.วิริยะ พยายามพูด และนำเสนอมาตลอดว่า อุดมศึกษาไทยต้องมองตลาดงานในประเทศในภูมิภาค และในโลก แล้วร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรสาขาใหม่ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องกับตลาดงาน ไม่ใช่เดินผิดที่ผิดทาง มุ่งแต่จะแย่งรับนักศึกษา หรือแย่งกันแข่งขัน โดยขาดการมองไปข้างหน้า
       
        "เปิดรับกันมากมายในสาขาที่เหมือนๆ กันทุกมหาวิทยาลัย พอจบมาแล้วบัณฑิตจะไปทำอะไรกัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่กระเตื้องกันนะ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็เริ่มตระหนักแล้ว แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีอิสระกันอยู่มาก ต่างคนต่างสบาย ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร นี่แหละปัญหา เรียนแบบเดิม ๆ จดกันเข้าไป เน้นแต่การแข่งขัน แข่งกันไปตาย (ในโลกการทำงาน) จบออกมาก็ไม่มีทักษะอื่น ๆ ไว้นำไปใช้ในการทำงาน" นักวิชาการด้านการศึกษาให้ทัศนะ พร้อมกับฝากไปถึงมหาวิทยาลัยไทยหลาย ๆ แห่งว่า
       
        "ส่วนตัวคิดว่า เงินเพื่อการอยู่รอด มันเป็นอดีตไปแล้ว ยุคนี้ มีคุณค่าถึงจะอยู่รอด โดยสร้างคุณค่าให้แก่มหาวิทยาลัย และตัวนักศึกษา เน้นให้ปัญญา ไม่ใช่รับเงินแล้วจบ เมื่อเป็นแบบนี้ ไม่มีใครทิ้งคุณหรอก แต่ถ้ามัวแต่มุ่งปั้มใบปริญญาแจก แจก สักวันสังคมทิ้งคุณแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ อีก 30 ปี คนไทยจะไปใช้แรงงานในพม่าก็อย่ามาว่าก็แล้วกัน" 
       
        คล้ายกันกับแนวทางของ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เคยออกมาเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาบัณฑิตปริญญาตรีตกงานกว่า 1 แสนคนต่อปีว่า ระบบอุดมศึกษาไทยในปัจจุบันใช้เวลาเรียน 4 ปี ทั้งนี้ ช่วงที่เรียนชั้นปีที่ 1-2 มหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องจัดการศึกษาโดยเน้นพัฒนาความรู้ความสามารถของนักศึกษาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น ความรู้และทักษะอาชีพในสาขาวิชาที่เรียน ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน หลังจากนั้นเมื่อเรียนชั้นปีที่ 3 จะต้องสำรวจว่าถึงความต้องการของนักศึกษาแต่ละคนแต่ละสาขาภายในมหาวิทยาลัยว่า เมื่อเรียนจบแล้วต้องการจะไปประกอบอาชีพอะไรบ้าง
       
        เมื่อได้ข้อมูลข้างต้นแล้วทางมหาวิทยาลัยก็ประสานไปยังสถานประกอบการด้านต่างๆเพื่อหาข้อมูลว่าสถานประกอบการต้องการบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะอาชีพอย่างไรบ้างแล้วเติมเต็มความรู้ในการประกอบอาชีพดังกล่าวให้แก่นักศึกษาเมื่อเข้าสู่ชั้นปีที่ 4 เพื่อจะได้มีความรู้ความสามารถรอบด้านและสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อที่เมื่อเรียนจบแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันที สถานประกอบการไม่ต้องเสียเวลาไปฝึกงานให้เพิ่มเติม
       
        "การแก้ปัญหาระยะยาว รัฐบาล ศธ.และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ควรร่วมมือกับภาคธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆปรับแผนการผลิตบัณฑิตจากปัจจุบันสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์อยู่ที่ 70% และสายวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 30% เปลี่ยนเป็นผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์ให้อยู่ที่สายละ 50% โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและภาษาต่างประเทศและภาษาอาเซียนให้แก่บัณฑิตปริญญาตรีและแรงงานไทยในทุกสาขาด้วย" 
       
        ถึงตอนนี้ ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยไทยที่จะต้องกลับมาตระหนักเพื่อทบทวนการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตอย่างจริงจังมากกว่าจะไปมุ่งแสวงหากําไรอย่างเดียวเหมือนที่บางแห่งคิดผลิตหลักสูตร “เรียนง่ายจบเร็ว” ตัวผู้เรียนที่กำลังจะออกไปสู่โลกของการทำงานเองก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน 
       
        เพราะถ้าคิดเพียงอยากได้ใบปริญญาแต่จบออกไปอย่างคนที่ไม่มี "ปัญญา" เตรียมสะกดคำว่า "ตกงาน" รอไว้ได้เลย
       
       

ที่มา: ASTV ผู้จัดการ Live


 

ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี