หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางาน l คอมพิวเตอร์ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าลงโฆษณา
www.cmprice.com เว็บไซต์ของฅนเชียงใหม่ ผ้าพันคอราคาถูก ราคาส่ง เชียงใหม่ ลำพูน

หน้าแรก » เว็บบอร์ด
ห้องแก๋งโฮ๊ะ
เว็บบอร์ด » ห้องแก๋งโฮ๊ะ
รายละเอียดของห้อง : พูดคุยกันเรื่องทั่วๆ ไป, สัพเพเหระ, อยากถาม อยากตอบ
กระทู้ที่ตอบกลับล่าสุด | สร้างกระทู้ใหม่ | ดูกระทู้ทั้งหมด | ค้นหากระทู้ :
เรื่องราว ประวัติ ของครูบาขาวปี๋ อันทรงคุณค่า น่าทึ่งและน่าอ่านยิ่ง - วัดพระบาทผาหนาม อ.ลี้ ลำพูน

แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV
เรื่องราว ประวัติ ของครูบาขาวปี๋ อันทรงคุณค่า น่าทึ่งและน่าอ่านยิ่ง - วัดพระบาทผาหนาม อ.ลี้ ลำพูน
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 01 มี.ค. 60 เวลา 23:01:37 IP: Hide ip    


กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ
จาก cmprice.com
VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน


 

© เนื้อหาข่าว/กระทู้

 

บทความดีๆ จาก ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ (Pensupa Sukkata)

 

เมื่อสิ้นบุญของครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว ศาสนทายาทผู้สืบสานตำนานตนบุญแห่งล้านนา ในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจความขัดแย้งในวงการสงฆ์ล้านนา

บุคคลผู้นั้นคือ "ครูบาอภิชัยขาวปี" (คนเมืองเหนือออกเสียงเป็น "ขาวปี๋")

ครูบาอภิชัยขาวปี เป็นบุตรของนายเม่า และนางจันตา หล้าแก้ว เป็นชาวบ้านเชื้อสายลัวะ ชาวแม่เทย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 7 เหนือ ปีกัดเป้า (ปีฉลู) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 เดือนเมษายนอันเป็นวันมหาสงกรานต์ หรือวันปากปี เพื่อให้เป็นมงคลตามวันจึงมีชื่อว่า "จำปี" หรือ "จุมปี"1

อนึ่ง ศักราชที่ท่านเกิดนี้ได้มีข้อถกเถียงกันเป็นสองแนวทาง เอกสารเดิมๆ มักระบุว่าปี พ.ศ.2443 แต่หากพิจารณาจากข้อความที่ว่า ตอนท่านอายุ 83 ปี นั้นตรงกับ พ.ศ.2514 และข้อความจากหนังสือชีวประวัติที่ท่านได้เขียนเอาไว้เมื่ออายุ 65 ปี ตรงกับ พ.ศ. 2496 เมื่อนับย้อนหลังแล้ว มีหลายท่านเห็นว่าปีเกิดของท่านควรเขยิบถอยหลังกลับไปสู่ปี พ.ศ.24312คือเลื่อนขึ้นจากปี 2443 ไปอีก 1 รอบ แต่ยังถือว่าเป็นปีฉลูเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก กระทั่งอายุได้ 16 ปี มารดานำไปฝากบวชเป็นสามเณรกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง ท่านจึงเริ่มเรียนหนังสืออย่างจริงจัง ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ถ่ายทอดความรู้ให้ทั้งทางธรรมและโลก
นั่นคืองานด้านการก่อสร้างในเชิงวิชาช่างจากการติดสอยห้อยตามอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปก่อสร้างวัดวาอารามทุกหนทุกแห่งมิได้ขาด จึงเกิดความชำนาญในด้านนี้ตั้งแต่ยังเยาว์ มีเรื่องเล่ากันถึงขนาดที่ว่า แม้เพียงแค่ท่านเดินผ่านเสาไม้ต้นใดก็ตาม สามารถรู้ได้ทันทีว่า เสาต้นไหนกลวงหรือตัน ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏร่องรอยใดๆบนพื้นผิวภายนอก3

เมื่ออายุครบ 22 ปี ท่านบวชเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า “พระอภิชัย”4 เมื่ออุปสมบทได้ 2 พรรษา จึงกราบลาอาจารย์ เพื่อมุ่งมั่นงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดร้างต่างๆ ตามแนวทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางไว้ ถือเป็นช่วงต้นของชีวิตพระภิกษุ ระหว่างอายุ 24 ปีจนถึงอายุ 35 ปี ที่อุทิศทุ่มเทให้แก่งานการก่อสร้างพระอารามอย่างเต็มที่ นอกจากแถบอำเภอลี้ แม่ทา บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้างในลำพูนแล้ว ยังได้เดินทางไปก่อสร้างศาสนสถานทั่วล้านนาทั้งในลำปาง พะเยา เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย และข้ามเขตแดนพม่าแถบลุ่มน้ำสาละวินอีกด้วย ก่อนจะพบกับวิกฤติชีวิตด้วยมรสุมทางการเมือง


ระหว่าง "ตนบุญ" กับ "ครูบา"

ทั้งครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาอภิชัยขาวปี ต่างได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ตนบุญ”

คำว่า "ตนบุญ" หมายถึงผู้มีบุญญาบารมีที่สั่งสมมาหลายภพหลายชาติ อาจเป็นพระหรือฆราวาสก็ได้ ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่า บุคคลผู้นั้นเป็นตัวแทนของหน่อพุทธางกูร หรือพระโพธิสัตว์ ที่เกิดมาเพื่อโปรดให้คนทั้งหลายพ้นจากบาป โดย "ตนบุญ" จะเป็นผู้ปราบยุคเข็ญในยามที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ5 และ "ตนบุญ" ไม่จำเป็นต้องมียศถาบรรดาศักดิ์หรือกำเนิดในชาติตระกูลสูง

ส่วนคำว่า "ครูบา" นั้น มาจากคำว่า "ครุปิ อาจริิโย" แผลงเป็น "ครุปาจาริโย" หมายความว่า เป็นทั้งครูและเป็นทั้งอาจารย์ ตัดคำเอามาเฉพาะ "ครุปา" กลายเป็น "ครูบา" ชาวล้านนาถือว่ามีความยิ่งใหญ่มาก มีสถานะแตกต่างไปจาก "พระภิกษุ" ทั่วไป ทั้งพระป่าหรือพระบ้าน

การจะยกย่องเรียกขานใครสักคนว่าเป็น "ครูบา"ชาวล้านนาวัดจากความมุ่งมั่นที่ท่านบวชเรียนตั้งแต่วัยเยาว์และบวชต่อเนื่องโดยไม่สึก มีศีลวัตรธุดงควัตรเข้มข้น สร้างบารมีเพื่อปรารถนาพุทธภูมิ ข้อสำคัญคือต้องเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเป็นที่พึ่งของชาวบ้านยามมีวิกฤติ ถึงแม้พระบางรูปจะอายุมาก หากไม่มีความดีปรากฏในหมู่ชุมชนแล้วก็ไม่มีสิทธิจะได้รับคำนำหน้าว่าครูบา6

ทั้งคำว่า "ตนบุญ" และ "ครูบา" คำทั้งสองสามารถใช้เรียกพระศรีวิชัย และพระอภิชัยขาวปี แทนกันได้ในลักษณะยกย่อง ในกรณีของครูบาอภิชัยขาวปีนั้น แม้จะถูกจับสึก 3 ครั้งแต่ไม่มีผลกระทบให้เกิดควาามสั่นคลอนต่อศรัทธาของมหาชนที่ยังคงเต็มใจเพรียกขานคำว่า "ครูบา" ต่อไป


ปณิธานอันแน่วแน่ของภิกษุสายวัดป่าอรัญวาสี

ย้อนกลับไปมองเส้นทางพระพุทธศาสนาล้านนา ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลของพระญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) ได้เคยกล่าวถึง พระภิกษุสำคัญรูปหนึ่งนาม "พระญาณคัมภีร์"ว่าเป็นพระสงฆ์ผู้วางรากฐานและสถาปนาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ใหม่ขึ้นที่วัดป่าแดง ซึ่งสายนี้เอง ที่เป็นรากฐานให้แก่การสืบพระศาสนานิกายอรัญวาสีของครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาขาวปี

มูลเหตุมาจากการที่สำนักสงฆ์นิกายป่าแดงสายใหม่นี้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนิกายลังกาวงศ์เดิมคือสำนักสงฆ์วัดบุปผาราม หรือนิกายสวนดอก ทำให้พระญาสามฝั่งแกนห้ามมิให้พระญาณคัมภีร์เผยแพร่ศาสนาในเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นระหว่างช่วง พ.ศ.1977-1985 พระสงฆ์สายวัดป่าแดงจำต้องออกไปตั้งสำนักยังหัวเมืองต่างๆ แทน อาทิ ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงแสน เชียงตุง ดังปรากฏสาขาของวัดป่าแดงจำนวนมากมายหลายแห่ง

ผ่านไประยะหนึ่ง สถานการณ์กลับพลิกผัน กลุ่มของพระญาณคัมภีร์ได้รับการอุปถัมภ์อย่างเป็นทางการในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระองค์โปรดให้ตั้งสำนักขึ้นที่เชียงใหม่อีกครั้ง ในนามของ "วัดป่าแดงหลวง" และต่อมาภายหลังจากพม่าเข้าปกครองล้านนาแล้ว พระสงฆ์กลุ่มนี้จำต้องหนีออกนอกเมืองกระจายตัวไปตั้งสำนักสงฆ์อยู่ในป่า มีการสืบสายของพระสงฆ์กลุ่มนี้ที่ลำปางและแพร่ แม้จะไม่ได้เรียกว่านิกายป่าแดงดุจเดิมแต่แนวทางปฏิบัติยังคงเข้มข้น

มีพระสงฆ์สำคัญรูปหนึ่ง คือพระมหาเกสรปัญโญ วัดไหล่หินสืบมาจนถึงครูบามหาเถรกัญจนะอรัญวาสี วัดสูงเม่นเมืองแพร่ เป็นตัวอย่างของศาสนทายาทในสายวัดป่าแดงที่ยังหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ที่วัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร ลำปาง และที่รวมตัวกันหนาแน่นมากเป็นพิเศษคือที่สายเมืองเถิน (อดีตเรียก "สังขเติ๋น" หรือ "เถินบุรี" ก่อนจะเป็นอำเภอเถินของลำปาง) ซึ่งไม่ไกลจากเมืองลี้ สำนักอรัญวาสีกลุ่มเถินประกอบด้วย วัดเวียง วัดอุมลอง วัดล้อมแรด วัดห้วยเกี๋ยง วัดดอยป่าตาล วัดห้างนา เป็นต้น

สำหรับที่ลำพูนนั้น สำนักป่าแดงก็มิอาจตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองได้เช่นกัน จำต้องกระจายตัวอยู่ตามอำเภอแม่ทา ป่าซาง บ้านโฮ่ง และลี้

ครูบาอภิชัยขาวปี ได้เคยบันทึกถึงความเป็นมาของการสืบสายลูกศิษย์นิกายอรัญวาสี จากพระมหาเกสรปัญโญว่า
“ที่นี้... อภิชัยขาวปี๋ จักกล่าวสืบวงศา ครูบาเจ้าต๋นเป็นครูล่วงแล้ว ต่อจากพระญาณคัมภีร์ภิกษุต่อไป ต่อนั้นมา พระญาณรังษีวัดป่าแดงเชียงใหม่สืบมาบัดนั้น ครูบามหามังคลาจารย์วัดตำหนักสืบมา บัดนั้นครูบาญาณมงคลวัดเชตุพนสืบมา ครูบาเกสรปัญโญวัดดอยดั้ง (น่าจะหมายถึงไหล่หิน-ผู้เขียน) สืบมา

ต่อนั้นมาครูบาสามีวัดฉางข้าวน้อยต้นยาง (อยู่ที่อำเภอป่าซาง) สืบมา ถัดนั้นครูบากางเป็ดต๋นเป็นลูกศิษย์สืบมา ถัดนั้นครูบาพุทธวงศ์วัดสันต้นธงสืบมา ถัดนั้นครูบาสมเด็จสังฆราชวัดดอยครั่งสืบมา ถัดนั้นครูบาอุปละวัดติ๋นดอยพระนอน (หมายถึงวัดพระนอนม่อนช้าง) สืบมา

ถัดนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยวัดบ้านปางสืบมา ถัดนั้นครูบาเจ้าอภิชัยยาขาวปี๋สืบมา นับภิกขุสามเณรที่เรียนธรรมต่อจากพระญาณคัมภีร์ นับแต่เมืองศรีอยุธยาขึ้นมาเถิงเชียงใหม่ ลำดับเถิงเจียงตุ๋ง นับเป็นร้อยๆ มีชื่อบ่ปรากฏ ที่มีชื่อปรากฏ ก็มี 14 ต๋น เท่านี้...”7

ความเกี่ยวเนื่องกันของพระสายวิปัสสนาดังกล่าวนั้นมีผลทำให้เกิดการเกื้อกูลกันภายในระหว่างพระสงฆ์และชาวบ้านลูกศิษย์ในสายสำนักป่าเหมือนกันซึ่งเหมาะสมกับจารีตการปกครองสงฆ์ระบบหัวหมวดแบบเดิมก่อนมีการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ปีพ.ศ.2445


กระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัยกับประคำ 108เม็ด

ก่อนมรณภาพครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ฝากฝังลูกศิษย์สายพระป่าให้ทำการซ่อมและสร้างเสริมวัดวาอารามทั่วแผ่นดินล้านนาให้ครบ108แห่งเท่ากับจำนวนเม็ดประคำที่ท่านใช้เป็นเครื่องบริกรรมกถาขณะนั่งภาวนาเพื่อให้เกิดสมถะ
แนวคิดตามรอยครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กลายเป็น “กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมช่วงหนึ่งของวัฒนธรรมล้านนา"8

โดยชาวปากกะญอหรือกะเหรี่ยงเผ่าโปว์และสกอว์ในกลุ่มชาติพันธุ์ "เตละโคน" (Telakorn)9ที่อาศัยอยู่แถบเขตตอนใต้ของลำพูน เชียงใหม่ (ดอยเต่า ลี้ บ้านโฮ่ง ฮอด)มีพื้นฐานความเชื่อในเรื่องพระศรีอาริย์ หรือการอวตารของพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันกับแนวคิดในเรื่อง "ตนบุญ" เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขนานนามครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า “กระแฉ่บั้ง” (Khae Chae Bang) และครูบาอภิชัยขาวปีว่า “กระแฉ่อ้วย” (Khae Chae Uae) คำว่า “บั้ง” หมายถึงสีเหลือง คือสีจีวรที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยนุ่งห่ม ขณะที่คำว่า อ้วย หมายถึง สีขาว คือเครื่องนุ่งห่มของพระอภิชัยขาวปี ส่วนคำว่า กระแฉ่ หมายถึงผู้วิเศษ เป็นผู้รู้ในปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ และเหนือวิญญาณหรือผีอื่นๆ มีหูทิพย์ตาทิพย์ ผลจากความเชื่อมั่นในครูบาทั้งสองว่าเป็น "ตนบุญ" นี้เองที่ทำให้พวกเขาติดตามไปทุกที่10

พระภิกษุหรือครูบาสายวัดป่าหลายรูปมีเชื้อสายปกากะญอได้ใช้พลังศรัทธาดังกล่าวเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาและสาธารณประโยชน์ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า หากได้ทำบุญร่วมกับตนบุญแล้ว จะทำให้พวกเขาได้บุญบารมีมาก โดยปรารถนาเพื่อให้ตนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็เพียงเพื่อสั่งสมบุญเพื่อให้ผลตอบแทนในโลกหน้า11

กิจกรรมภายใต้กระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัย แสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน พอจะขมวดได้เป็นสามกิจกรรมสำคัญ12 ดังนี้

1.การเทศนาสั่งสอน พร้อมกับเผยแพร่พุทธศาสนาด้วยการจาริกธุดงควัตร ไปตามพื้นที่ป่าเขาทุรกันดารคือจุดเริ่มต้นของกิจกรรมการบวชให้แก่กุลบุตรตามเส้นทางที่ท่านได้จาริกผ่านไป ในพระพุทธศาสนาการบวชถือเป็นทานบารมีประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้ปรารถนาพุทธภูมิพึงกระทำ เนื่องจากเป็นการให้ธรรมะแก่ผู้คนได้รู้เห็นและสัมผัสกิจกรรมนี้มุมหนึ่งนั้นถือว่ามีคุณูปการอย่างสูงต่อชาวบ้านที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาแต่ในทางกลับกันกลายเป็นเป้าสายตาอันล่อแหลมที่ทำให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกตั้งข้อหาว่าเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน จากมุมมองของมหาเถระสมาคมจนถูกอธิกรณ์มาแล้วหลายครั้งตัวท่านครูบาอภิชัยขาวปีเองก็เป็นหนึ่งในศิษยานุศิษย์ที่ได้รับผลกระทบจากการบวชโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย

2.การจารคัดลอกพระไตรปิฎกและพระธรรมวินัย ตลอดจนชาดกต่างๆ ลงในคัมภีร์ใบลาน ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นจำนวนมากอยู่ที่หอธรรมวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ และวัดบ้านปาง ลำพูน แม้ว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นเรื่องปกติในวัฒนธรรมล้านนาอยู่แล้ว แต่สำหรับครูบาเจ้าศรีวิชัย การเขียนธรรมนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นมหาทานอันยิ่งใหญ่ เพื่อค้ำชูโชตกะพุทธศาสนาตามแนวทางของการบำเพ็ญเพียรบารมี การทานธรรมและการสร้างหอธรรม(หอไตร)ถือเป็นวัตรปฏิบัติในกระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทานบารมี คือการให้ทานแก่ผู้อื่นได้รู้ได้สัมผัสถึงพุทธศาสนา

ในส่วนของครูบาอภิชัยขาวปีนั้น แม้จะได้ศึกษาพระธรรมบาลีกับครูบาอาจารย์เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ กล่าวคือภายหลังจากการเป็นศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว ยังได้ร่ำเรียนวิชาอรรถกถาภาษาบาลีจาก "พระอุปคุต" แห่งสำนักถ้ำพระพุทธบาทสามยอด ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เพียงเวลา 7 วัน แต่ท่านสามารถท่องจำจนอ่านออกเขียนได้หมด กระทั่งมีผลงานการจารใบลานในลักษณะ "นิทานธรรม" จำนวนมากมาย ได้แก่ กัมมัฏฐาน 40 (ว่าด้วยการทำที่ตั้งให้มั่นในจิต ให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างมั่นคง) นิทานมรรคธรรมแปดประการ (คำสอนความจริงว่าด้วยทางแห่งการดับทุกข์)13 นอกจากนี้ยังมีหนังสือปั๊บสา (สมุดข่อย) ที่เขียนเรื่องคร่าวเจ้าพ่อราชสัมพันธ์ ตำนานพระยาธรรมมิกราช ตำราดูพระอาทิตย์และพระจันทร์ จากคำบอกเล่าของศิษย์ผู้ใกล้ชิดระบุว่าครูบาอภิชัยขาวปีอุทิศเวลานั่งเขียนคัมภีร์ใบลานอย่างหนักหน่วงในช่วงบั้นปลายชีวิตหลังจากที่เพลาๆ งานก่อสร้าง โดยใช้นิวาสถานคือกุฏิวัดพระพุทธบาทผาหนาม ในช่วงเช้าหลังภัตตกิจก่อนเวลาเพลเสมอ14

3.การสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญที่สุดในกระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยพุทธสถาปัตยกรรมทั้งหมด กอปรด้วย พระธาตุเจดีย์ วิหาร โบสถ์ หอธรรม มณฑปรอยพระบาทและเสนาสนะอื่นๆ รวมถึงสาธารณะประโยชน์ เช่น ถนน สะพาน โรงพยาบาล โรงเรียน เปรียบเสมือนการสร้างทานให้ผู้คนมากราบไหว้บูชา ได้มาใช้สอย ถือเป็นตัวแทนของผลบุญที่ใช้ในการบำเพ็ญเพียรบารมีอย่างหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัย

ครูบาอภิชัยขาวปีได้แกะรอยเส้นทางจาริกบุญของครูบาเจ้าศรีวิชัย และสานต่อแนวทางที่ได้วางไว้ทุกประการ นับแต่ยุคเริ่มบวชใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการถูกจับสึกหลายครั้งหลายครา แต่ครูบาอภิชัยขาวปีก็มิเคยย่อท้อหยุดงานก่อสร้างด้าน "ศาสนกุศล" ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นงาน "สาธารณกุศล" รวมผลงานก่อสร้างทั้งสองด้านที่เกิดขึ้นจากกระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัย โดยมีครูบาอภิชัยขาวปีเป็นเสมือนศิษย์เอกมือขวาในการฟื้นฟูบูรณะนั้น มีจำนวนมากเกินกว่า 300 แห่ง ผลงานชิ้นโบแดงที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง ได้แก่ มณฑปครอบรอยพระบาทวัดพระบาทตะเมาะ อ.ดอยเต่า เชียงใหม่ วิหารครอบรอยพระบาท และวิหารเปื๋อยวัดพระพุทธบาทสามยอด อ.บ้านโฮ่ง ลำพูน วิหารประดิษฐานเสาอินทขีล ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเวียงเชียงใหม่ อนุสาวรีย์ของพระญากาวิละ โรงพยาบาลลำพูน และสิ่งก่อสร้างชิ้นสำคัญที่สุดที่เปรียบเสมือนอนุสรณ์หรือตัวแทนของท่านก็คือ เสนาสนะภายในวัดพระพุทธบาทผาหนาม ต.ป่าไผ่ อ.ลี้ จ.ลำพูน15

ยุคแรกแห่งการร่วมงานก่อสร้างศาสนสถานกับครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น มีเป้าหมายหลักด้วยจำนวน"ประคำ108เม็ด" เพื่อใช้เรียกแทนสัญลักษณ์ของเสนาสนะที่สร้างขึ้น รูปแบบศิลปะอาจเรียกได้ว่าเป็นแนว"ล้านนาประยุกต์" หรือ Neo-Lanna มีหัวใจอยู่ที่การลดทอนลวดลายให้ดูเรียบง่ายกว่าสมัยล้านนายุครุ่งโรจน์ สะท้อนถึงความสมถะ ด้วยวัสดุอันจำกัดไม่หรูหราฟุ่มเฟือย หากสัมฤทธิ์ได้ด้วยแรงศรัทธาของมหาชน16

กิตติศัพท์จากความสำเร็จอันใหญ่หลวงนี้ ส่งผลให้ช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน มักมีชาวบ้านและชุมชนในท้องถิ่นนิมนต์ให้ท่านไปเป็นประธาน "นั่งหนัก" เพื่อช่วยเหลือในการสร้างอาคารประเภทสาธารณกุศลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมิอาจรอคอยงบประมาณจากทางรัฐบาลได้ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ประกอบด้วย โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีอนามัย ป้อมตำรวจ ถนน สะพาน บ่อบาดาล อนุสาวรีย์ ฯลฯ นับรวมสิ่งก่อสร้างสองด้านคือทั้ง "ศาสนกุศล" และ "สาธารณกุศล" ที่ครูบาอภิชัยขาวปีเริ่มบุกเบิกตั้งแต่อายุระหว่าง 24 ถึง 65 ปีได้ทั้งสิ้นจำนวน 109 แห่ง177


บวชสามครั้ง สึกสามครา อำลาผ้ากาสาวพัสตร์สีเหลือง

แม้จะเป็นพระป่าผู้สมถะครองตนอย่างดีมาโดยตลอด แต่เนื่องจากความใกล้ชิดในฐานะศิษย์เอกคอยอุปัฏฐากครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้เมื่อถึงพรรษาที่ 13 ครูบาอภิชัยขาวปีจึงถูกกลั่นแกล้ง และถูกจับดำเนินคดีอย่างไร้เหตุผล ในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ทั้งๆ ที่กาลเวลาล่วงผ่านอายุในวัยเกณฑ์ไปนานกว่า 15 ปีแล้ว คือขณะนั้นท่านอายุ 35 ปี ทางการบังคับให้ท่านสึกและครองผ้าขาวเป็นครั้งแรก18

ในขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่ในคุก ซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย (ก่อนหน้านั้นเดิมเคยเป็นวัดแสนข้าวห่อ) ท่านได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนจนแล้วเสร็จ เนื่องจากได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำที่แสนจะอนาถาเมื่อมหาชนที่เลื่อมใสในตัวท่านทราบข่าวว่าท่านมาเป็นประธานในการก่อสร้างโรงพยาบาล ก็พากันมาช่วยร่วมบุญอย่างคับคั่ง จนสร้างโรงพยาบาลแล้วเสร็จ เมื่อเดือน 9 เหนือ แรม 2ค่ำ เป็นวันที่ท่านพ้นโทษตามคำพิพากษาครบ 6 เดือนพอดี19

เมื่อออกจากคุกแล้ว ท่านเดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ในครานั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยดำเนินการอุปสมบทให้ท่านเป็นภิกษุอีกเป็นคำรบสอง โดยมีครูบาแห่งวัดนันตาเป็นอุปัชฌาย์ ท่านอยู่จำพรรษากับครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ 1 พรรษา ก็ลาอาจารย์จาริกไปสร้างวัดและโรงเรียนอีกหลายแห่ง จากพระเจดีย์ที่บ้านนาหลวง เมืองตาก ท่านมุ่งสู่แม่สอดจนถึงแม่ระมาด ณ ที่แห่งหลังนี้ ปัจจัยไม่พอสำหรับสร้างโบสถ์ ท่านจึงปรึกษาชาวบ้านเพื่อขอเงินบริจาค ซึ่งชาวบ้านยินดีช่วยด้วยความเต็มใจ แต่ทางอำเภออ้างว่าผิดระเบียบคณะสงฆ์รายงานไปยังเจ้าคณะจังหวัด ตัดสินว่าให้สึกพระอภิชัยอีกเป็นครั้งที่สองการถูกจับสึกครั้งนี้ได้สร้างความสะเทือนใจอันใหญ่หลวงให้แก่กลุ่มชาวกะเหรี่ยงผู้ติดสอยห้อยตาม จนถึงกลับประกาศถ้อยคำที่อัดอั้นตันใจในเชิงประชดว่า
“ตุ๊เหลืองของพวกเจ้า ตุ๊ขาวของหมู่เฮา"20

ส่วนการถูกบังคับให้สึกครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นเมื่อคราวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับนิมนต์ให้ช่วยสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งต้องใช้แรงงานคนจำนวนมหาศาล ในคราวนั้นครูบาอภิชัยขาวปีได้พาชาวกะเหรี่ยงประมาณ 500 คนไปช่วยทำถนนจนแล้วเสร็จ และได้กลับมาพำนักกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระสิงห์ ขณะนั้นเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยหลวงศรีประกาศ รู้สึกประทับใจครูบาอภิชัยขาวปีมากจึงได้ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเพื่อเป็นภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดศรีโสดา โดยอ้างว่าสภาพของท่านนั้นมีลักษณะคาบลูกคาบดอก คือพระก็ไม่ใช่ ขะโยมก็ไม่เชิง

แน่นอนว่าการอุปสมบทครั้งนี้ ถูกดึงไปเป็นเหตุผลหนึ่งให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ด้วยข้อหาว่าทำการอุปสมบทให้แก่ "ผ้าขาวปี๋ หรือหนานปี๋ ซึ่งคณะสงฆ์ประกาศห้ามมิให้อุปสมบท เนื่องจากเคยขโมยตัดไม้สักในป่ามาสร้างวิหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการจึงถูกคณะสงฆ์ลงโทษเป็นทุติยปาราชิก"21

ระหว่างการสอบสวนครูบาเจ้าศรีวิชัยที่กรุงเทพฯ นั้น คณะสงฆ์เชียงใหม่ก็สอบสวนภิกษุเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ที่ขอลาออกจากคณะสงฆ์มาขึ้นกับครูบาเจ้าศรีวิชัยคู่ขนานไปพร้อมๆ กันด้วย ครั้งนั้นมีการสึกเจ้าอาวาสมากกว่า 60 วัด ทั่วเชียงใหม่และลำพูน เหตุเพราะวัดเหล่านั้นไม่ยอมรับที่จะเข้ามาอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ แต่กลับยืนยันจะขอขึ้นกับครูบาเจ้าศรีวิชัยต่อไป นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 247822

เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปต่อสู้คดีที่กรุงเทพฯ ครูบาอภิชัยขาวปีอยู่รักษาวัดพระสิงห์แต่เพียงผู้เดียวมหาสุดใจ วัดเกตการาม กับพระครูวัดพันอ้นรูปหนึ่ง ถือโอกาสมาข่มขู่ให้ครูบาอภิชัยขาวปีสึกเสีย เพราะมิฉะนั้นทางการจะเอาเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ติดคุกจนถึงที่สุด ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในตัวอาจารย์ ท่านจึงเสียสละผ้ากาสาวพัสตร์ ยอมสึกเป็นชีปะขาวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตัดวงจรแห่งมารผจญ นับเป็นครั้งสุดท้ายแห่งการครองผ้าไตรจีวร23 ในที่สุดครูบาอภิชัยขาวปีก็มองเห็นสัจธรรมว่า

"ไม่ว่าจะห่มเหลืองหรือห่มขาว ขอให้ยึดมั่นต่อคุณงามความดีเท่านั้น ความเป็นพระอยู่ที่ใจมิใช่อยู่ที่สีของจีวร" จากนั้นท่านได้ตั้งสัจจะวาจาว่าไม่ขอกลับคืนสู่ผ้าเหลืองชั่วนิรันดร์


แนวคิดเรื่องชีปะขาวหรือผ้าขาวในสังคมล้านนา
อันที่จริงแนวคิดนี้มีมานานก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว และไม่ใช่มีเพียงแต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังพบในตะวันออกกลางแถบอียิปต์ ปาเลสไตน์ สำหรับอินเดียแนวคิดนี้ถูกนำปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสำหรับผู้ชายทุกคนในรูปแบบของอาศรม ถึงแม้อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปคือ วานปรัศน์ สันยาสี ฤๅษี ปริพาชก ดาบส เป็นต้น แต่ล้วนมีรูปแบบการครองชีวิตเหมือนกันหมดคือเป็นวิถีของ "นักบวช"

นักบวชที่นุ่งขาวห่มขาว หาได้มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ในศาสนาเชนและฮินดูก็มีเช่นกัน คือนิกายเศวตัมพร เน้นการนุ่งขาวห่มขาว คู่กับนิกายทิฆัมพร นุ่งลมห่มฟ้า (ชีเปลือย)24 เป็นสองนิกายที่ได้รับความนิยมและเป็นคู่แข่งที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ในขณะที่ศาสนาฮินดูนั้น พวกพราหมณ์จะใช้ "สีขาว" เป็นสัญลักษณ์ของวรรณะ โดยนุ่งขาวห่มขาวตลอดแต่ไม่โกนผม และใช้ชีวิตอย่างผู้ครองเรือนทั่วไป

ในพระพุทธศาสนาเองนั้น การนุ่งขาวห่มขาวสำหรับอุบาสกอุบาสิกามีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ และเชื่อว่าพระพุทธเจ้าก็มิได้บัญญัติไว้เช่นกัน ที่บัญญัติไว้มีเพียงสีจีวรของภิกษุและภิกษุณีเท่านั้น ก็เพื่อให้แตกต่างจากฆราวาสที่ส่วนมากนุ่งห่มผ้าดิบโดยมิได้ย้อมฝาด ทำให้อุบาสกอุบาสิกานุ่งห่มขาวไปโดยอัตโนมัติ25

บนแผ่นดินล้านนานั้นตั้งแต่อดีตกาลก็มีตำนานเกี่ยวกับนักบวชประเภทฤๅษีและผ้าขาวปรากฏอยู่มากมาย เห็นได้จากตำนานการสร้างเมืองหริภุญไชยสมัยพระนางจามเทวีผู้สถาปนาเมืองเป็นเหล่าฤๅษี ก็คือนักบวชที่มีวิถีปฏิบัติไม่ต่างผ้าขาวนั่นเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ตำนานกล่าวถึงการเสด็จมายังนครหริภุญไชยของพระนางจามเทวีจากกรุงละโว้ ได้มีการเกณฑ์ผู้คนมาจำนวน 7,500ชีวิต โดยแบ่งเป็น 15 กลุ่มๆ กลุ่มละ 500 คน หนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นมีการระบุว่าเป็น "หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล 500 คน"26 ผ้าขาวเหล่านี้น่าจะทำหน้าที่ในการอุปัฏฐากบำรุงพระสงฆ์ บางคนอาจสละทางโลกย์แต่บางคนก็อาจมีครอบครัวได้

ด้านหนึ่งนั้น แนวคิดเรื่องผ้าขาวในสังคมล้านนาหมายถึงบุคคลในวัยชราต้องการที่พึ่งทางจิตใจแต่ยังมีความห่วงใยในครอบครัว จึงได้ปลีกเวลาเข้าวัดวัดปฏิธรรมเฉพาะในวันโกนวันพระ ด้วยการสมาทานรักษาอุโบสถศีลถือเพศเป็นผ้าขาว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา หรือบางแห่งอาจจะปฏิบัติกันไปถึงเดือนยี่เป็งหรือเดือน 12 ส่วนในวันธรรมดาก็ดำเนินชีวิตอยู่อย่างผู้ครองเรือนทั่วไป

ทว่าแนวคิดเรื่องผ้าขาวอีกมิติหนึ่ง ที่ยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมล้านนาตลอดมา ก็คือกรณีของครูบาอภิชัยที่ได้ถูกบังคับให้สึก และใช้ชีวิตเป็นผ้าขาวตลอดชีวิตของท่านนั่นเองเหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความสะเทือนใจให้แก่ชาวล้านนาอย่างไม่มีวันลืมเลือน ผู้คนเป็นจำนวนมากยังคงเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน เห็นได้จากไม่ว่าท่านจะทำการก่อสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ณ ที่แห่งใดก็ตาม มักจะมีคณะศรัทธาจากทุกชนชั้นวรรณะแห่เข้ามาให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่เสมอนี่ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณงามความดีที่อยู่เหนือสีของเครื่องนุ่งห่ม
ด้วยการไม่ยอมรับการสละเพศสมณะของครูบาอภิชัยขาวปี ถึงกับยอมหันมานุ่งขาวห่มขาวแทนนั้น ทำให้สังคมล้านนาเกิดแรงบันดาลใจให้สมณะรูปอื่นๆ ยึดถือเอาเป็นแบบอย่างไม่น้อย ที่ปรากฏชัดเจนก็คือ ผ้าขาวพงษ์ศักดิ์ วัดผาลาด อำเภอเมืองเชียงใหม่ ผ้าขาวนิกรหรือธรรมบุตรดาบสนิกร วัดสันปง อำเภอพร้าว เชียงใหม่ และผ้าขาวประสิทธิ์ บุญเป็ง วัดสันต้นดู่ อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ท่านทั้งหลายเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าต้องอธิกรณ์ปฐมปาราชิก (ในขณะที่ครูบาอภิชัยขาวปีถูกอธิกรณ์ตติยปาราชิกคือถูกจับสึกถึงสามครั้ง) ทุกท่านที่กล่าวนามมาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างยืนกราน แม้บางท่านจะยอมลาสิกขาบท แต่ชาวบ้านที่คงความเลื่อมใสศรัทธาก็ไม่เคยเชื่อว่าท่านจะทำผิดจริง ต่างขอร้องให้ท่านกลับมาบวชเป็นผ้าขาวใหม่อีกครั้ง ตามรอยครูบาอภิชัยขาวปี และยังคงให้ความเคารพเลื่อมใสเหมือนตอนที่ยังเป็นพระภิกษุดุจเดิมทุกประการ27

ด้วยเหตุนั้น ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ28 จึงได้ให้คำนิยามของคำว่า "ผ้าขาว" เอาไว้ว่า หมายถึงผู้บวชบางรายเมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว อาจถูกใส่ร้าย หรือไม่อาจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทั้งหมดได้มักลาสิกขาแล้วบวชเป็นผ้าขาวหรือเป็นชีปะขาวแทน

วันต๋นบุญละสังขารเหลือแต่สรีระร่าง

ครูบาอภิชัยขาวปีมรณภาพ เมื่อวันขึ้น  14  ค่ำเดือน 6  เหนือ  ตรงกับวันพฤหัสที่  3  มีนาคม  2520 เวลา  16.00น .สิริรวมอายุได้  89 ปี  ทุกวันนี้ได้เก็บพระสรีระร่างอันไม่เปื่อยไม่เน่าของท่านไว้  ที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม  ต.ป่าไผ่  อ.ลี้  จ.ลำพูน  และมีประเพณีเปลี่ยนผ้าห่อสรีระเป็นประจำทุกปีในวันที่  3  มีนาคม

(รายละเอียดของการละสังขารที่ทุ่งเสลี่ยม  สุโขทัยดูได้จากลิงก์ที่แนบมา)

หมายเหตุ  เป็นบทความเก่าที่เขียนเรื่องราวของครูบาขาวปีไว้แบบย่นย่อเพียง 8 หน้า a4  ตั้งแต่ปี 2553-2554 (ยังไม่ได้มีการทำวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติม) หากมีโอกาสลงพื้นที่สัมภาษณ์วัดและบุคคลผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียด  คงได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์มากกว่านี้

กุฏิ (โฮงหลวง เสานักกว่า 400 ต้น) วัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ อารามหลักที่ท่านพำนักมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทตะเมาะ สืบสานงานก่อสร้างต่อจากครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่วิหารเปื๋อยวัดพระพุทธบาทสามยอด ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ฝีมือช่างพื้นบ้านวิหารประดิษฐานเสาอินทขีล วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่โลงศพแก้ว ในหอปราสาทรักษาศพ จัดสร้างให้โดยครูบาวงค์ เพื่อเก็บพระสรีระร่างของครูบาอภิชัยขาวปี ที่วัดพระพุทธบาทผาหนามสรีระเป็นอมตะ ไม่เน่าเปื่อย เก็บไว้เป็นที่สักการะกราบไหว้ ยึดเหนี่ยวจิตใจของเหล่าสานุศิษย์

เชิงอรรถ
1เอกสารหลายเล่มมักระบุว่าเด็กชายจำปีเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของนายเม่า    และนางจันตา (ไม่ปรากฏนามสกุล)    หากแต่ทายาทชั้นหลานที่ตั้งรกรากอยู่บ้านป่าตาล    ต.ม่วงน้อย    อ.ป่าซาง จ.ลำพูน    กลับยืนยันว่าครูบาอภิชัยขาวปีมีนามสกุลว่า    "หล้าแก้ว"    และมีพี่น้องรวม    4    คน ดังนี้ นายป๊ก นายทา นายจุมปี (ครูบาอภิชัยขาวปี)    และนายสุข ลูกชายของนายป๊ก มีชื่อว่า    "พ่อหล้า    หล้าแก้ว"    หรือหนานชัย    ปัจจุบัน (ปี    พ.ศ.2554)    อายุ 84    ปีเป็นผู้ให้ข้อมูล
2เป็นการระบุปี    พ.ศ.    ตามหนังสือชีวประวัติที่ครูบาอภิชัยขาวปี    เป็นผู้เรียบเรียงเอง
3ประเพณีรำลึก    30    ปี ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี (ลำพูน    :    วัดพระพุทธบาทผาหนาม,    2549), หน้า 12.
4เมื่อแรกบวชเป็นสามเณรใหม่ๆ    ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ตั้งชื่อเด็กชายจุมปีว่า    "สามเณรศรีวิชัย"    ชื่อเดียวกัน
5ชูสิทธิ์    ชูชาติ,    แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องครูบาในล้านนา    (เชียงใหม่    :    วิทยาลัยครูเชียงใหม่    สหวิทยาลัยล้านนา เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องพุทธศาสนากับสังคมล้านนา,    2535), หน้า 7.
6สิงฆะ    วรรณสัย,    สารประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย,    หน้าบทนำ.
7พระอภิชัยขาวปี,    ตำนานมูลศาสนา    (เชียงใหม่    :    ธาราทองการพิมพ์    ,    มปป.),    หน้า 11.    อนึ่ง    รายชื่อพระสงฆ์ที่สืบสายจากวัดป่าแดงที่ครูบาอภิชัยขาวปีระบุว่ามี    14    ตนนั้น ใ    นที่นี้นับได้เพียง 12    ตน อันที่จริงน่าจะรวมถึงครูบากัญจนะวัดสูงเม่นเมืองแพร่รูปหนึ่ง    และครูบาสมณะวัดบ้านโฮ่งหลวงอีกรูปหนึ่งด้วย
8"กระบวนการ"    มาจากคำว่า    Movement    แปลว่าความเคลื่อนไหว    การไม่หยุดนิ่ง เป็นศัพท์ที่ใช้กับการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์    หมายถึงกิจกรรม ปรากฏการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงอันประกอบด้วยเงื่อนไขของคน    เวลา และสถานที่ โดยปรากฏการณ์หรือกิจกรรมดังกล่าวต้องมีบทบาทที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม    ซึ่งกระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้เป็นการขับเคลื่อนระหว่างปี    พ.ศ.    2447-2481
9ธีโอดอร์    สเติร์น,    พระศรีอาริย์    และสุวรรณลิขิต :    พุทธศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือ (กรุงเทพฯ    :    สำนักพิมพ์สร้างสรรค์    จำกัด 2527)    , หน้า 184.
10 ชาญณรงค์    ศรีสุวรรณ,    การศึกษาวิหารที่สร้างในกระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัย, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์    มหาวิทยาลัยศิลปากร,    หน้า 25-26.
11 เรื่องเดิม,    หน้า 33.
12เรื่องเดิม,    หน้า 19-20.
13 ประเพณีรำลึก    30    ปี ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี,    อ้างแล้ว,    หน้า    2.
14 ไมตรี    ภาวัง และณัฐวุฒิ สารีอินทร์,    เรียบเรียงและรวบรวม,    เล่าขานตำนานธรรม    ฉบับครูบาอภิชัยขาวปี    (เชียงใหม่    :    วัดพระพุทธบาทผาหนาม    จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ    32    ปี ครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี",    3 มีนาคม 2552),    หน้า 33.    อนึ่ง จากคำนำของหนังสือเล่มนี้ระบุว่ายังมีคัมภีร์ใบลานอีกจำนวนมากมายมหาศาลที่เป็นผลงานการจารธรรมของครูบาอภิชัยขาวปี    แต่คณะลูกศิษย์ลูกหายังมิได้ทำการถอดความชำระปริวรรต
15 ดูรายละเอียดในวิทยานิพนธ์ของ    ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ,    การศึกษาวิหารที่สร้างในกระบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัย,    อ้างแล้ว.
16 สุวิภา    จำปาวัลย์,    "พุทธสถาปัตย์    :    อัตลักษณ์ที่ควรอนุรักษ์,”    ครูบาเจ้าศรีวิชัย    ชีวิต คำสอน ศรัทธา สถาปัตย์    ,    อ้างแล้ว,    หน้า 4-8.
17ไมตรี    ภาวัง ,    เล่าขานตำนานธรรม    ฉบับครูบาอภิชัยขาวปี    ,    อ้างแล้ว,    หน้า 14-18.
18 ไมตรี    ภาวัง ,    เล่าขานตำนานธรรม    ฉบับครูบาอภิชัยขาวปี    ,    อ้างแล้ว,    หน้า 8-10.
19 สุธานี    จันทร์รัตนสิริ,    ชีวประวัติครูบาเจ้าอภิชัย    (ขาวปี)    (ลำพูน :    ณัฐพลการพิมพ์,    2552), หน้า 7-8.
20 เรื่องเดิม,    หน้า 9-11.
21 สิงฆะ    วรรณสัย,    สารประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย    นักบุญแห่งล้านนา,ครูบาอภิชัยขาวปี, หน้า 22-23.
22 เรื่องเดิม,    หน้า 21.    หมายเหตุวิหารในที่นี้    หมายถึงวิหารครอบรอยพระบาท    (วิหารมหาอุตม์-เนื่องจากไม่มีการเจาะช่องหน้าต่าง)    บนยอดเขาวัดพระพุทธบาทสามยอด    ต.ป่าพลู    อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน    ซึ่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ.    2548 ได้ถูกพระแก้ว    ซึ่งเป็นพระธุดงค์ชาวกะเหรี่ยงอ้างว่าครูบาชัยยะวงศาพัฒนาสั่งเสียก่อนมรณภาพสามปี    ว่าขอให้รื้อทิ้งเสียแล้วสร้างวิหารหลังใหญ่กว่าเดิมแทนที่    พระแก้วจึงทำการรื้อทิ้งในวันที่    18    ธันวาคม 2548    แล้วนำช่อฟ้าไปขาย    เกิดการดำเนินคดีฟ้องร้องจากกรมศิลปากร    ต่อมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ    หริภุญไชย และสำนักศิลปากรที่    8    เชียงใหม่ ได้ของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน    เพื่อทำการบูรณะวิหารดังกล่าวขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิมด้วยกระบวนการ    Reconstruction
23 สุธานี    จันทร์รัตนสิริ,    ชีวประวัติครูบาเจ้าอภิชัย    (ขาวปี),    อ้างแล้ว,    หน้า    13.
24 ทั้งนิกายเศวตัมพร    นุ่งขาวห่มขาว และนิกายทิฆัมพร    นุ่งลมห่มฟ้า นี้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย    คือลัทธิที่บูชาพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่
25 ผศ.    ดร.    วิโรจน์ อินทนนท์,    “ ชีปะขาว    (ผ้าขาว),”    เล่าขานตำนานธรรม    ฉบับครูบาอภิชัยขาวปี    ,    อ้างแล้ว,    หน้า บทนำ 1.
26 พระพุทธพุกาม,    ตำนานมูลศาสนา,    อ้างแล้ว,    หน้า 195.
27 ผศ.    ดร.    วิโรจน์ อินทนนท์,    “ชีปะขาว    (ผ้าขาว),”    อ้างแล้ว,    หน้าบทนำ    2.
28 ดูรายละเอียดจาก    ผศ.    ดร.    วิโรจน์    อินทนนท์,    แนวคิดและมรรควิถีแห่งชีปะขาวในสังคมล้านนา    (ภาควิชาปรัชญาและศาสนา    คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,    2552).

แสดงโฆษณา

 


Copy Link : ท่านสามารถ copy ลิงค์ของข่าวนี้เพื่อเผยแพร่ต่อได้
แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV


ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน

 

 

 

 

 



แจ้งลบกระทู้นี้

อ่าน 49341

แสดงความคิดเห็น โดย โน้ต cmprice IP: Hide ip , วันที่ 01 มี.ค. 60 เวลา 23:01:37
 

 

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 

 
กรุณาอ่าน
ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถ ระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใด ที่ขัดต่อกฎหมายและ ศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ 08-0500-1180 เพื่อให้ผู้ควบคุม ระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป
 
 
 


ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี