หน้าแรก | ลงโฆษณาฟรี l หางาน l คอมพิวเตอร์ l เว็บบอร์ด | ตลาดออนไลน์ | อัตราค่าลงโฆษณา
www.cmprice.com เว็บไซต์ของฅนเชียงใหม่ ผ้าพันคอราคาถูก ราคาส่ง เชียงใหม่ ลำพูน

หน้าแรก » เว็บบอร์ด
ห้องแก๋งโฮ๊ะ
เว็บบอร์ด » ห้องแก๋งโฮ๊ะ
รายละเอียดของห้อง : พูดคุยกันเรื่องทั่วๆ ไป, สัพเพเหระ, อยากถาม อยากตอบ
กระทู้ที่ตอบกลับล่าสุด | สร้างกระทู้ใหม่ | ดูกระทู้ทั้งหมด | ค้นหากระทู้ :
เหมืองแร่บ้านปู(ดงดำ) ''คราบน้ำตา'' อันแสนเจ็บปวดของคนเมืองลี้ ลำพูน

แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV
เหมืองแร่บ้านปู(ดงดำ) ''คราบน้ำตา'' อันแสนเจ็บปวดของคนเมืองลี้ ลำพูน
โพสต์โดย โน้ต cmprice , วันที่ 02 พ.ย. 58 เวลา 11:38:58 IP: Hide ip    


กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ
จาก cmprice.com
VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน


 

© เนื้อหาข่าว/กระทู้

 

รู้หรือไหมว่า บ.บ้านปู บริษัทยักษ์ใหญ่ เริ่มต้นธุรกิจ ในการขุดเมืองแร่(ถ่านหินลิกไนต์) จนมีเงินมากมายมหาศาลในปัจจุปัน แต่คนในพื้นที่นั้น กลับไม่เหลืออะไรเลย และยังทิ้งไว้ด้วยความเจ็บช้ำมาจนถึงปัจจุปัน


เขียนโดย สมโรจน์ สำราญชลารัตน์
ที่มา  http://www.ppvoice.org/?p=5100
http://www.oknation.net/blog/dearntemdoung/2009/10/10/entry-1

บ้านปู ต.ดงดำ อ.ลี้ จ.ลำพูน  เป็นหมู่บ้านที่มีถ่านหินลิกไนต์อยู่มากพื้นที่หนึ่งของจังหวัดลำพูน จนกลายเป็นพื้นที่สัมปทานวันนี้บริษัทสัมปทานได้เข้าไปเก็บเอาทรัพยากรในหมู่บ้านนี้  จนต้องย้ายทั้งบ้านและชุมชนให้กลายเป็นบ่อแร่ สูญสิ้นป่าต้นน้ำที่เป็นที่พึ่งพาของชุมชนในขณะที่บริษัทเอกชนเข้าไปรับสัมปทานบ่อลิกไนต์แห่งนี้กลายเป็นบริษัทธุรกิจถ่านหินที่ใหญ่โตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริษัทหนึ่งทีเดียว

บ้านปูนับว่าเป็นหมู่บ้านที่สะเทือนใจผู้คนอย่างมากที่ต้องละทิ้งถิ่นฐานเดิมออกไปราว 3-4 กิโลเมตร ในหมู่บ้านแห่งใหม่ทุกอย่างเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ดีเหมาะสม บ้าน วัด โรงเรียน ถนนหนทาง แม้แต่แปลงปลูกข้าวก็ได้รับการฟื้นฟูโดยเครื่องจักรทันสมัย แต่ทว่า ในทุกจังหวะปลูกสร้างของหมู่บ้านกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งสิ้น ทำให้รากเหง้าความรู้ร่องรอยเดิมและทำเลอยู่อาศัยตามจารีตนั้นหมดไปทันที  ก็ยังโชคดีอยู่บ้างที่พวกเขายังอยู่ในลุ่มน้ำลี้เหมือนเดิม  ทุกปีที่ฝนตกเกษตรกรรมก็เริ่มวัฏจักรแห่งการทำมาหากินของคนที่นี่คือเกษตรกรรม  สายน้ำลี้ที่เคยไหลดีวันนี้ถูกเปลี่ยนลำน้ำเดิมกลายเป็นลำเหมืองใหม่แม้ผ่านหมู่บ้านแต่ก็ต้องผ่านบ่อแร่ที่น้ำเต็มไปด้วยโลหะหนักและกรด ส่วนที่ไหลลงหมู่บ้านเป็นลำห้วยที่ภาคอุตสาหกรรมสร้างให้

ชาวกระเหรี่ยงบ้านนากลาง ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน หมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองในบริเวณเดียวกันห่างออกไป 7 กิโลเมตร แม้บ้านปูจะย้ายห่างออกมาแต่พวกเขายังคงเอื้ออาทรเข้ามาช่วยเหลือเอาแรงทำนาร่วมกันเหมือนเดิม  แม้ชาวบ้านปูย้ายออกมาจากถิ่นฐานเดิมความสัมพันธ์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและ ยังคงประกอบอาชีพเป็นปกติระหว่างชาวบ้านปูและบ้านนากลาง สิ่งที่มีความผูกพันกันมากขึ้นทั้งสองหมู่บ้านมีบ่อแร่ถ่านหินเป็นของตนเองที่บริษัททำเหมืองทิ้งไว้ให้อยู่ที่ต้นน้ำเหนือชุมชนเหมือนกัน ต่างกันนิดหน่อยคือที่บ้านปูถูกย้ายชุมชนออกมาให้ไกลจากบ่อแร่เดิม ส่วนบ้านนากลางถิ่นฐานเดิมจำเป็นต้องอยู่ข้างบ่อแร่เพราะการเปิดหน้าดินขุดเหมืองไม่ตรงกับที่ตั้งของหมู่บ้านนั่นเอง  ถ้ามองไปอีกภาพจะเห็นว่าเนินดินของขอบบ่อถ่านหินที่ประชิดเข้ามาถึงขอบรั้วบ้าน ติดกับโรงเรียนบ้านนากลาง ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

ปัจจุบันเหมืองเลิกกิจการไปแล้วหลายปี เหลือไว้เพียงร่องรอยการขุดหน้าดินและภูเขาดินที่เสี่ยงต่อการพังทลาย แม้ว่าเหมืองจะเลิกไปแล้วแต่ความเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจยังมีเกิดขึ้นหลายคน และพบว่าเด็กๆ ในชุมชนหลายคนมีอาการบกพร่องทางสมอง (ปัญญาอ่อน) กระเหรี่ยงชาวบ้านนากลางหลายคนไม่มีความเข้าใจพอว่าทำไมที่บ้านปูจึงมีการปรับภูมิทัศน์ปลูกต้นไม้ในบริเวณภูเขาใหม่ หรือที่ทิ้งดินของธุรกิจทำเหมือง แต่ทำไมที่บ้านนากลางไม่มีการจัดการกับบ่อเหมืองเลย  วันที่ฝนตกชาวนาเดินออกไปทำนาผ่านบ่อเหมืองยังเห็นกลุ่มควันลอยขึ้นจากหน้าดินที่ยังมีถ่านหินอยู่มีกลิ่นเหม็น พวกเขาเชื่อว่ากลุ่มควันและกลิ่นเหล่านี้เป็นกลิ่นแห่งการนำมาซึ่งการเจ็บป่วยในหมู่บ้าน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้นการร้องเรียนไม่มีความหมายเพราะผู้นำหมู่บ้านไม่เล่นด้วย การร้องเรียนอาจเป็นปัญหาตามมากับครอบครัวที่เดือดร้อนให้เดือดร้อนหนักขึ้นไปอีก

ภาพถ่ายมุมสูงบริเวณขุมเหมืองแร่ถ่านหินเก่าที่สิ้นอายุแล้วของบริษัทบ้านปู จำกัดมหาชน ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน                                   

บริเวณขุมเหมืองแร่ถ่านหินที่สิ้นอายุแล้วของบริษัทบ้านปู จำกัดมหาชน ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน                                                                  

ขอขอบคุณภาพจาก “โครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ อำเภอลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน” กรมอุตสาหกรรมเพื่อฐานและการเหมืองแร่

แม้ว่าจะมีรายงานผลกระทบจากโครงการตรวจสอบและประเมินสภาพเหมืองถ่านหินเพื่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่ทำการสำรวจโดยสำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555  มีรายการการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในพื้นที่ บ้านปู พื้นที่บ้านนากลาง พื้นที่บ้านโฮ่ง พื้นที่บ้านแม่ลอง และพื้นที่บ้านป่าคา – ดงดำ อ.ลี้ จ.ลำพูนและแหล่งน้ำของลุ่มน้ำลี้ พบว่าเหมืองต่างๆ มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องครบถ้วนนัก จึงมีสารปนเปื้อน โลหะหนักอยู่ในแหล่งน้ำ ส่งผลให้น้ำในบ่อเหมืองกลายเป็นกรด จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของตนเอง

ถ้ากลับไปมองทีละเหมืองใน อ.ลี้จะพบว่า จุดที่ 1 บ้านปูมีการทำเหมือง 2 ส่วน บ่อแรกดำเนินการโดยบริษัทเหมืองบ้านปู จำกัด (มหาชน) ส่วนหนึ่งเช่าช่วงจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มีพื้นที่ รวมประมาณ 2,160 ไร่ เริ่มเปิดการทำเหมืองตั้งแต่ปี 2527 และยุติการทำเหมืองลงในปี 2548 รวมระยะเวลาทำเหมืองในหมู่บ้านปูนานถึง 21 ปีผลิตถ่านหินได้ประมาณ 11.2 ล้านเมตริกตัน  ลักษณะการทำเหมืองคือเหมืองเปิด

การฟื้นฟูพื้นที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว   เหมืองแห่งนี้ได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนของกฎหมายจากเงินที่เก็บสะสมหักจากรายได้ในจำนวน 4 บาทต่อเมตริกตัน เป็นเงินรวมถึง 40 ล้านบาท มีการปรับสภาพพื้นที่ปลูกต้นไม้จำนวน 389,689 ต้นทั้งหมดเป็นต้นยูคาลิบ มีการฟื้นฟูบ่อเหมือง ที่ทิ้งดินรวมถึงบริเวณบริหารจัดการเช่นอาคารสถานที่และพื้นที่ที่เหลือจากการทำเหมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในบ้านปู ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่สัมปทานเลขที่ 25963/15874 ทำเหมืองถ่านหินของบริษัทเชียงใหม่      ทวีทรัพย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นเหมืองขนาดเล็กที่ยังมีอายุสัมปทานอยู่จนถึงปัจจุบัน มีการทำเหมืองแบบหาบ คือการใช้รถแบ็คโฮตักดินใส่รถบรรทุกเพื่อลำเลี้ยงไปยังกองดินและกองถ่านหินตามกรณี   ถ่านหินจะผ่านเครื่องบดให้มีขนาดตามต้องการ

พื้นที่บ้านนากลาง  ประกอบด้วยพื้นที่ทำเหมือง 2 ส่วน

1.เป็นของบริษัทถาวรทรัพยากรพัฒนา จำกัด ในพื้นที่เอกสารสิทธิ์เคยได้รับสัมปทานจำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่  402 ไร่เศษ ปัจจุบันประทานบัตรหมดอายุแล้ว  เหมืองแห่งนี้อยู่ใกล้ชุมชนและไม่มีการปรับฟื้นฟูแต่อย่างใด ยังปล่อยให้บ่อเหมืองและพื้นที่ทิ้งดินอยู่ในสภาพเดิม ส่งผลให้น้ำมีสภาพเป็นกรด และภูมิทัศน์เสียไปตลอดจนปัญหาสารปนเปื้อนโลหะหนักลงสู่ลำห้วยธรรมชาติ

2.ขุมเหมืองนี้เป็นของบริษัทลำพูนเจริญลิกไนต์ จำกัด  เป็นพื้นที่ประทานบัตรเดิม เลขที่  25839/14411  เป็นเหมืองที่หมดอายุแล้ว เหมืองแห่งนี้ถ่านหินให้ความร้อน 5,200 -5,600 กิโลแครอรี่ต่อกิโลกรัม มีกำมะถัน(s) ประมาณร้อยละ 205 มีสภาพปัญหาเช่นเดียวกันเนื่องจากเป็นบ่อที่ต่อเนื่องกันทั้ง 2 บ่อ ปัญหาความเป็นกรดในขุมบ่อเหมืองจะต้องผ่านกระบวนการจัดการที่ดี ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี งบประมาณและความตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหา  ซึ่งถ้าไม่มีการติดตามฟื้นฟูพื้นที่ที่บกพร่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อชุมชนอย่างแน่นอน

ส่วนที่บ้านโฮ่ง บ้านแม่ลอง บ้านปาคา ดงดำ นั้นผู้เขียนมิได้ลงพื้นที่และพอทราบว่าการจัดการหลังหยุดการทำเหมืองมิได้เป็นไปตามกฎหมายและยังคงเป็นข้อกังขาของคนในชุมชน ที่สำคัญเหมืองทุกแห่งในลำพูน ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำลี้ทั้งสิ้น เนื่องจากระหว่างการทำเหมืองมีการเปลี่ยนทางน้ำของลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำลี้ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อประโยชน์ในการล้างแร่และแน่นอนว่าผลกระทบจากการเปิดหน้าดินและเปลี่ยนทางน้ำ จะทำให้แร่ธาตุในดินถูกละลายออกมาโดยธรรมชาติ อีกทั้งน้ำที่อยู่บ่อเหมืองที่เต็มไปด้วยโลหะหนักทำให้น้ำในบ่อขนาดใหญ่กลายเป็นกรดรุนแรง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าย้อนกลับมาดูพื้นที่ทำเหมืองบ้านปูและบ้านนากลาง มาวันนี้ ที่นาแห่งใหม่ของบ้านปู (ใหม่) ห่างจากบ้านเดิมมาไกล 3-4 กิโลเมตร จากบ้านนากลางราว 7 กิโลเมตร คนทำงานในทุ่งนาแห่งนี้ไม่เข้าใจมากไปกว่าผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทราบเรื่องดีว่า ที่นาแห่งใหม่นั้นเกิดจาก การสัมปทานของบริษัททำเหมืองแร่จาก กทม.เพื่อขุดถ่านหินในหมู่บ้านทำให้พวกเขาได้ที่นาแห่งใหม่ที่บริษัทได้เตรียมพื้นที่ให้กับชาวบ้านไว้พร้อมและได้ย้ายมาตามข้อตกลง  คือได้ที่สร้างบ้านราว 2 งานเศษเมื่อปลูกบ้านแล้วสามารถสร้างสวนลำไยเล็กๆ ได้พอดี  นอกจากนั้นยังได้ที่นาอีก 2 ไร่เป็นนาที่กำลังทำกันอยู่ในวันนี้ ในพื้นที่อพยพมีทั้งวัดและโรงเรียนย้ายมาพร้อมกันเหมาะสำหรับเด็กๆ ได้โอกาสเรียนหนังสือใกล้ๆ บ้านชีวิตใหม่ของครอบครัวอพยพสามารถทำรายได้ดีกว่าหรือไม่ ท่ามกลางข้อสงสัยและหวงแหนถิ่นฐานเดิม

บ้านนากลาง สมาชิกเป็นชาวกะเหรี่ยงที่ต้องเผชิญกับมลภาวะเป็นพิษไม่รู้จบแม้ว่าเหมืองหยุดกิจการไปนานแล้ว  แต่มีกระแสข่าวว่า เหมืองจะกลับมาอีกครั้งในไม่ช้า  ชาวบ้านที่เห็นว่า เหมืองเป็นพิษภัยของชาวบ้าน เด็กๆ และชาวบ้านที่มีปัญหาสุขภาพยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  การจะกลับมาเปิดกิจการอีกชาวบ้านในหมู่บ้านไม่เห็นด้วย  แต่ในหมู่บ้านเหล่านี้อิทธิพลของเหมืองผ่านผู้นำชุมชนและระบบราชการทำให้เกิดอำนาจบางประการที่ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกมาเปิดเผยข้อมูล  แม้ว่ามีการคิดและพยายามรวมตัวเพื่อขอให้นักวิชาการลงไปยังพื้นที่

วันที่ 24 พฤษภาคม 2556  เครือข่ายประชาสังคมในภาคเหนือ จับมือกันเชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู  เวชรัตน์พิมล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักวิชาการ พร้อมทั้งนักเคลื่อนไหวแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกหลายคนไปร่วมกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเปิดเวทีให้ความรู้ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชาวบ้านต้องการ  เวทีการพูดคุยดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องประชุมกองทุนสวัสดิการ ต.ดงดำ อ.ลี้ จ.ลำพูน  แม้ว่าเป็นความต้องการของชุมชนที่หาทางออกในการแก้ปัญหา แต่เมื่อถึงวันที่นักวิชาการลงพื้นที่ปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้ามาฟังข้อมูลในเวที  มีเพียงส่วนน้อยที่กล้าเข้ามาร่วมกิจกรรม  สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากทราบว่าผู้นำหมู่บ้านไม่เห็นด้วยที่จะให้มีเวทีทางวิชาการเพื่อศึกษาข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามเวทีก็สามารถเปิดได้โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลจากพื้นที่และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากนักวิชาการที่สนใจเดินทางมาให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่

“ประคอง”  หญิงนักพัฒนาในพื้นที่พยายามที่จะบอกถึงข้อจำกัดที่ อ.ลี้ ประชาชนไม่กล้าสู้กับอำนาจของผู้นำที่ได้รับผลประโยชน์จากเหมืองแร่  ทางออกนั้นที่ถือว่าสำคัญกว่าข้อมูลสุขภาพคือการสร้างความเข็มแข็งตั้งแต่ในระดับครอบครัวขึ้นมา  รวมไปถึงปัญหารายได้ในครัวเรือนในพื้นที่ที่เห็นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่มีใครสามารถทำประโยชน์กับที่ดินของตนเองได้เพราะไม่มีน้ำ ในขณะเดียวกันบ่อที่บริษัทเหมืองแร่ทิ้งไว้มีน้ำขังอยู่จำนวนมาก ทำอย่างไรให้สามารถผันน้ำเหล่านั้นไปใช้ได้ โดยผันน้ำผ่านลำห้วยใหม่ที่บริษัททำเหมืองทำขึ้นมาใหม่ได้จะทำให้ประชาชนมีน้ำใช้  ถ้ามีน้ำไหลมาเช่นในอดีตถ้าเจ้าของที่ดินไม่ทำก็อาจให้เช่า ทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาได้ ที่ตำบลดงดำเป็นพื้นที่ที่ต้องอาศัยน้ำฟ้าน้ำฝนเพียงอย่างเดียว  ถ้าปัญหาปากท้องดีขึ้นคิดว่าการตัดสินใจหรือความเข้มแข็งก็อาจกลับมาสู่ชาวบ้านได้อีกและอาจเข้ามาร่วมกันต่อสู้ในปัญหาหลายๆ ด้านที่เข้ามาในตำบล  แต่การนำน้ำในบ่อแร่มาใช้ก็อาจต้องมองในหลายด้านโดยเฉพาะสารปนเปื้อนในน้ำจะมีอย่างไรชาวบ้านไม่สามารถพิสูจน์ได้และข้อมูลทางการมาไม่ถึงชาวบ้าน

นายบุญจัน จันหม้อ  แกนนำชนเผ่ากะเหรี่ยง บ้านดงดำ กล่าวว่า  การเดินทางเข้ามาของนักวิชาการเพื่อให้ความรู้อาจไม่ตรงกับรอบที่ชาวบ้านว่างก็เป็นได้ โดยเราไม่ได้ศึกษาก่อนว่าในชุมชนมีกิจกรรมวันใดหรือว่างวันใด ความจริงแล้วประชาชนในแถบนี้ต้องการความรู้ทางวิชาการอยากมาฟังอยู่แล้วอาจติดที่เวลาไม่ตรงกัน หรือถ้าเสียเวลามาฟังข้อมูลอาจต้องแลกกับรายได้ที่ต้องสูญเสียไปในวันนั้นชาวบ้านคงต้องเลือกรายได้มากกว่าผลประโยชน์ด้านอื่นๆ

นายเกียรติ คำน้อย  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นชาวกะเหรี่ยงจากจังหวัดแพร่ที่เห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาให้กับชาวกะเหรี่ยงที่ อ.ลี้ จึงอาสาเข้ามาเป็นตัวประสานงานในการจัดงานครั้งนี้ได้กล่าวว่า มีชาวบ้านที่อยู่ในบ้านนากลาง เมื่อพูดเรื่องผลกระทบและมลภาวะในชุมชนมีความสนใจมาก สนใจที่จะร่วมกันแก้ปัญหาแต่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร จึงเป็นสาเหตุให้มีการประสานนักวิชาการมาร่วมให้ข้อมูล แต่หลังจากนั้นซักอาทิตย์สองอาทิตย์เท่านั้นความคิดก็เปลี่ยนไปด้วยเหตุผลว่าผู้ใหญ่บ้านไม่ให้ความร่วมมือและไม่เอาด้วย  ก็ได้บอกไปว่าไม่เป็นไรผู้ใหญ่บ้านไม่เอาด้วยแต่เราก็เอาคนที่สนใจก็ได้ เอาคนที่มีใจมานั่งคุยด้วยแต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่พร้อมที่จะร่วม  จึงคิดว่า ปัญหาขนาดนี้ยังไม่กล้าที่จะแก้ปัญหาทำให้คณะทำงานมีใจที่จะหาทางจัดให้ได้ จึงได้มีการประสานงานกับ “พี่ประคอง”  แต่ก็ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ กว่าจะติดต่อกันได้ใช้เวลานานและก็ทำให้มีเวทีวันนี้เกิดขึ้น จึงอยากให้กำลังใจเพื่อให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ไม่ต้องกลัวอะไร  ที่จังหวัดแพร่คนที่เป็นแกนนำต้านเหมืองแร่แม้แต่พระสงฆ์ กลุ่มทุนทำเหมืองและผู้นำชุมชนไม่ชอบตั้งค่าหัวสูงถึง 700,000 บาท  การต่อสู้กับกลุ่มทุนเป็นเรื่องต้องสู้และเสี่ยง ที่เมืองแพร่มีการเปิดเหมืองเมื่อทราบข่าวก็เตรียมตัวกันต่อต้านทันทีไม่ให้บานปลายมาจากขอสัมปทาน  มีงานศพ งานบุญ พระถูกนิมนต์ไปมีการพูดคุยเรื่องพิษภัยของเหมืองแร่อยู่เป็นประจำทำให้สามารถสู้กับการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนได้ โดยมีการทำงานประสานกัน อย่างไรก็ตามถ้ามองให้ชัดทุกพื้นที่มีปัญหาเหมือนกัน  วิธีการทำงานก็คงต้องเชื่อมเครือข่าย ทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่  การที่กลุ่มที่มาจากเมืองแพร่ก็คือการสร้างเครือข่ายฯมาถึงเมืองลี้ ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาทั้งตำบลแต่มีคนที่เข้มแข็งและเคลื่อนไหวต่อเนื่องก็สามารถทำได้แล้ว มีคนที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่รอบๆ ที่แม่ถอด อ.เถิน ที่บ้านแหง อ.งาว ที่แม่เมาะ จ.ลำปางเมื่อรู้ข่าวก็จะเข้ามาช่วยกัน  ถ้าเราสามารถเชื่อมเครือข่ายกันหมดจะทำให้เรามีพลังในการทำงานมากขึ้น  บางครั้งถ้าเรามองลึกลงไปเยาวชนก็มีส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ อาจไม่ได้ให้เยาวชนออกมาประท้วงเหมืองแร่ แต่อาจมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับป่า เช่นการสำรวจสมุนไพรในป่าบ้านเรา หรือ เอาเยาวชนมาร่วมกันร้องเพลงแต่งเพลงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เยาวชนชอบอาจนำไปสู่การพัฒนากลไกแก้ปัญหาก็ได้ เรื่องเหมืองแร่ก็ค่อยๆ แทรกเข้าไปเป็นการขยายวงในการปกป้องหมู่บ้านโดยคาดหวังไปที่คนรุ่นใหม่ด้วย  อีกเครือข่ายที่ควรเข้าไปเชื่อมคือเครือข่ายวิชาการ หลายๆ ส่วนเป็นข้าราชการเป็นนักวิชาการ และบางทีอาจมีอยู่ในชุมชนใกล้ก็ได้ ข้อสำคัญต้องใจเย็นๆ หรือจะมองไปที่เครือข่ายพระสงฆ์ก็อาจมีในเมืองลี้

รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู เวชรัตน์พิมล  นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม  ได้ลงพื้นที่แหล่งทำเหมืองใน อ.ลี้ ได้เข้าเก็บตัวอย่างดินและน้ำในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อมลภาวะที่เหมืองทิ้งไว้ในชุมชน  โดยได้เดินทางไปเก็บตัวอย่างดินและน้ำที่บ้านนากลาง  ไปพิสูจน์สารปนเปื้อนด้วยกระบวนทางวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฯ

ดร.เรณู กล่าวว่าปัญหาที่ อ.ลี้ นั้นเกิดขึ้นจากการทำเหมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขั้นตอนการทำนั้นไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ในกฎหมาย  มีหลายเหมือง หลายกิจการ และการกระทำแตกต่างกันออกไป บางเหมืองแม้แต่เปิดหน้าดินทำเหมืองยังไม่หมดตามโครงการก็มี แต่ส่วนใหญ่ขุดลิกไนต์ไปจนหมดแล้ว  เหมืองส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์ฟื้นฟูชุมชนและธรรมชาติ แต่เท่าที่ดูไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด  ยังดีอยู่ว่า กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ยังมีการส่งนักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาประเมินผลกระทบไว้  แต่เมื่อประเมินแล้วจะยังไงต่อ  มีการขุดบ่อเหมือง  ทิ้งดิน และการปลูกป่าเสริมและย้ายชุมชนออก  เท่าที่ดูพบว่าบริษัทยังเน้นไปที่รายได้มากกว่าการฟื้นฟูอย่างจริงจัง

ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ในปัจจุบันยังมีผู้ป่วยจากซัลเฟอร์ไดออกไซต์ คือโรคทางเดินหายใจ และ เด็กๆ ที่มีอาการป่วยทางสมองก็อาจเกิดจากโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านยังใช้กันอยู่  ซึ่งได้ทำการเก็บตัวอย่างดินบริเวณเหมืองไปพิสูจน์ก็พบว่า มีสานปนเปื้อนโลหะหนักอยู่ และที่สำคัญและเห็นได้ชัด ทดลองได้โดยชาวบ้าน คือเอาดินบริเวณเหมืองมาปลูกต้นไม้ เทียบกับดินบริเวณอื่น พบว่าแตกต่างกัน ต้นไม้ที่ใช้ดินบริเวณเหมืองจะไม่งอกงาม เหี่ยวเฉาตายอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลการทดลองทำให้ทราบว่าผลกระทบจะเกิดอย่างไร  ส่วนน้ำในบ่อเหมืองถ้าดูด้วยตาเปล่าจะเห็นว่า ใสเป็นสีเขียว เรียกได้ว่าไม่ปกติ  อาจมีสารปนเปื้อนโลหะหนักอย่างแน่นอน  และ มีสภาพเป็นกรด หาดูผลสำรวจได้จากงานศึกษาผลกระทบของ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นที่ประจักอยู่แล้ว และถ้าจะทำเป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรคงเป็นเรื่องยาก  ปัจจุบันก็เห็นว่าปัญหาสุขภาพคุกคามเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไปตามที่เหมืองเลิกกิจการ

นอกจากนักวิชาการจะลงพื้นที่พิสูจน์  กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทำการศึกษาผลกระทบ ยังมีข้อมูลจากสำนักข่าวประชาธรรมที่เก็บข้อมูลในพื้นที่และสัมภาษณ์องค์กรพัฒนาเอกชนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังนี้สำนักข่าวประชาธรรม จ.เชียงใหม่ ได้ลงเก็บข้อมูลในกลุ่มเหมือง อ.ลี้ จ.ลำพูน และได้บันทึกข้อมูลไว้ว่า  ปี พ.ศ. 2450 บริเวณห้วยขุนแวน ต.ดงดำ อ.ลี้ ลำพูน เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งสิ่งแวดล้อมที่สวยงามและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2519 ได้มีการสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ และได้ดำเนินการขุดเจาะถ่านหินลิกไนต์โดยกรมทรัพยากรธรณี ในปี พ.ศ. 2522 และ ได้เปลี่ยนให้บริษัทเอกชน คือบริษัทลานนาลิกไนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สัมปทานต่อ ในปี พ.ศ. 2539 จนกระทั้งสิ้นสุดการทำเหมืองในปี พ.ศ. 2548

ถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งเป็นสินในดินพบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากเหมืองแม่เมาะ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นสิ่งดึงดูดนายทุนผู้แสวงหาผลประโยชน์จากธรรมชาติ ผู้ที่หวังจะเปลี่ยนทรัพย์กรธรรมชาติที่มีมากและหายากของประเทศ ให้กลายเป็นเงินเท่านั้น มีกลุ่มผู้ได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากการทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ในครั้งนี้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนกลับไม่มีใครดูแลและให้ความช่วยเหลือ มีแต่อิทธิพลในกลุ่มผู้เป็นนายทุนระดับล่าง ที่ปกป้องผลประโยชน์ของตน ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าแม้กระทั้งจะพูดถึงการฟื้นฟูสภาพเหมืองที่ปัจจุบันทิ้งเป็นเหมืองร้าง ไม่สามารถทำประโยชน์ใดๆ ให้แก่ประชาชนได้ ทั้งๆ ที่ตามข้อตกลงกับชาวบ้านว่าหากเหมืองปิดทำการแล้วชาวบ้านจะได้มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ปัจจุบัน มีดินสไลด์ตามขอบแนวเหมืองซึ่งเมื่อฝนตกดินจะทรุดตัวลงเป็นวงกว้าง เข้าไปในพื้นที่ถนนซึ่งชาวบ้านใช้สัญจรไปทำไร่ทำนา แม้กระทั่งไปทำบุญบนวัดพระธาตุจอมสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านทั้ง ต.ดงดำ และเป็นที่เลี้ยงวัว เลี้ยงควายของชาวบ้านที่อยู่บริเวณทางไปขุนน้ำที่มีชื่อว่าขุนแม่แวนน้อย และขุนน้ำแม่แวนหลวง

เนื่องจากเหมืองแร่อยู่ระหว่างขั้นกลางของลำห้วยขุนน้ำดังกล่าว การทำเหมืองแร่ที่ผ่านมาได้มีการปิดลำห้วยเก่าและสร้างลำห้วยใหม่เพื่อไหลอ้อมลงสู่อ่างน้ำที่ใช้สำหรับการชำระล้างทำความสะอาดแร่ หลังจากที่เหมืองแร่ปิดลงชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำทั้งจากลำห้วยที่มีอยู่เดิม และลำห้วยใหม่ ในการทำไร่ทำนา เพราะอาชีพของชาวบ้านจากการเป็นลูกจ้างทำเหมืองแร่ก็หันมาประกอบอาชีพดั้งเดิมเมื่อเหมืองปิดลง ซึ่งอาชีพการเกษตรเป็นสิ่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่แม้เงินที่เคยมีนั้นจะหมดไปแล้วก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่ตอนทำเหมืองแร่ยังไม่เข้าใจเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อม มลพิษที่เกิดขึ้นจากกลิ่นของแร่ลิกไนต์ ทำให้หลายคนเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่คนส่วนมากยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ถึงแม้ปัจจุบันแม้เหมืองจะปิดไปแล้วหลังฝนตกก็มักมีกลุ่มควันจากแร่และกลิ่นของแร่ฯออกมาจากเหมือง ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวใดๆ

โครงการผันน้ำจากแม่น้ำลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ลงสู่เหมืองลิกไนต์เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ของบริษัทเหมืองบ้านปูหรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งหมดอายุสัญญาประทานบัตรตั้งแต่เดือน มิ.ย.2547 ที่ผ่านมาถือเป็นโครงการที่น่าจับตามองโครงการหนึ่ง  โครงการดังกล่าวเป็นแนวคิดของจังหวัดลำพูน ที่ต้องการนำหลุมเหมืองแร่ลิกไนต์ดังกล่าวมาปรับปรุงให้มีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการชลประทานตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลี้ ดังนั้นที่ผ่านมาโครงการนี้จึงถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มแผนงานยุทธศาสตร์จังหวัดในเบื้องต้นมีการตั้งงบประมาณดำเนินการไว้ที่ 100 ล้านบาท มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วเบื้องหลังเหมืองบ้านปูตัวเหมืองลิกไนต์บ้านปู ตั้งอยู่บริเวณบ้านปู หมู่ 3 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน อยู่ด้านทิศตะวันออกของตัว อ.ลี้ ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกจรดเทือกเขาสูง ด้านทิศใต้จรดหมู่บ้านนากลาง ต.ลี้ ส่วนด้านทิศตะวันออกจรดแม่น้ำลี้

บริษัทบ้านปูเริ่มเข้ามาดำเนินการเหมืองลิกไนต์แห่งนี้จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งทางบริษัทบ้านปูเป็นเอกชนคู่สัญญาตามสัญญาเลขที่ ป/26 ลงวันที่ 21 ก.ค.2526 และเริ่มดำเนินการในปี 2532-2533 ในสมัยนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันโครงการดังกล่าวจะยุติลงเนื่องจากหมดอายุสัญญาประทานบัตร ทว่าหากย้อนไปช่วงมีการเริ่มดำเนินการโครงการจะเห็นว่าโครงการนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนท้องถิ่นไม่น้อยทั้งนี้เพราะพื้นที่เหมืองครอบคลุมชุมชนท้องถิ่นถึง 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่หว่างพัฒนา หมู่ 2 บ้านนาทราย หมู่ 4 บ้านแม่หว่างต้นผาง หมู่ 5 และบ้านแม่หว่างลุ่ม หมู่ 7 ต.นาทราย หมู่บ้านทั้งหมดนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่ต้องถูกเวนคืน ตามหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 8 ตอนที่ 97 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2531 กรณีดังกล่าวทำให้หมู่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน มีประชากรรวมจำนวน 688 ครัวเรือน 2,650 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่

และจากที่ตัวเหมืองมีระยะห่างจากแม่น้ำลี้ในระยะใกล้สุดประมาณ 20 เมตร ดังนั้น โครงการดังกล่าวยังมีการเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำลี้ด้วยโดยการถมกลบลำน้ำเดิมบางช่วงและขุดทางน้ำสายใหม่ขึ้นมาแทน แน่นอนว่าการดำเนินการดังกล่าวย่อมสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำลี้ขนานใหญ่

แม่น้ำลี้ เส้นเลือดใหญ่ของคนลำพูนเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิง ถือเป็นสายน้ำที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คน เสมือนหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนลำพูนมาช้านาน  แม่น้ำสายนี้มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร ต้นน้ำมีแหล่งกำเนิดบริเวณดอยสบเทอม(ดอยอีฮุย) เขตบ้านหนองหลัก อ.ทุ่งหัวช้าง เป็นเขตรอยต่อระหว่าง อ.แม่ทา อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน และเขต อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ปัจจุบันผืนป่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง

จากนั้นไหลเรื่อยลงไปทางใต้จนถึงบริเวณ อ.ลี้ จึงค่อยไหลวกกลับขึ้นไปทางเหนือเป็นรูปตัวยู ผ่าน อ.ลี้ อ.บ้านโฮ่ง แล้วต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่าน กิ่งอ.เวียงหนองล่อง และบางส่วนของ อ.แม่ทา และ อ.ป่าซาง และมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่บ้านวังสะแกง กิ่งอ.เวียงหนองล่อง รวมพื้นที่รับน้ำกว่า 315 ตารางกิโลเมตร

แม้ว่าลุ่มน้ำลี้จะครอบคลุมพื้นที่ถึง 315 ตารางกิโลเมตรใน 4 อำเภอแต่ปัจจุบันพบว่าเกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำลี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะเกือบตลอดลำน้ำประสบปัญหาความเสื่อมโทรม
ทั้งนี้เพราะพื้นที่ จ.ลำพูน มีกิจกรรมส่งเสริมการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เช่น นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างหนัก เช่น ลำไย รวมทั้งกรณีเหมืองแร่ลิกไนต์ของบริษัทบ้านปูก็เช่นเดียวกัน

กิจกรรมเหล่านี้นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมต่อทรัพยากรต่างๆอย่างยากที่จะปฏิเสธ และคงไม่แปลกเลยที่ปัจจุบันแม่น้ำลี้ประสบภาวะแห้งขอด ไม่เพียงพอต่อการใช้ในการทำการเกษตร  กรณีดังกล่าวคือที่มาของโครงการนำเหมืองลิกไนต์มาใช้ในการทำอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานภายใต้การรับผิดชอบของ จ.ลำพูน ท่ามกลางกระแสหวาดวิตกของคนลุ่มน้ำลี้เพราะหวั่นเกรงเรื่องสารตกค้างภายในตัวเหมืองที่จะปนเปื้อนลงสู่พื้นที่เกษตรกรรม

แม้ว่าการทำเหมืองที่เหลือร่องรอยอยู่จะเห็นว่าเหมืองยังไม่สนใจปฏิบัติการตามกฎหมายแต่เหมืองเหล่านั้นกลับกลายเป็นบริษัทที่สร้างความร่ำรวยให้กับกิจการบ่งบอกถึงสภาพการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย “ผิดกฎหมายแต่ยังทำได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวหากพิจารณาตามบทบัญญัติกฎหมายของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ระบุชัดเจนว่าหลังจากเหมืองแร่หมดอายุประทานบัตรลง ผู้ประกอบการต้องปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพเหมืองแร่ให้ใกล้เคียงสภาพก่อนดำเนินการมากที่สุด กล่าวได้ว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ต้องการให้เกิดปัญหา ผลกระทบ รวมทั้งสภาพแสดล้อมมีความเสื่อมโทรมหลังเสร็จสิ้นการดำเนินการ  ดังนั้น กล่าวได้ว่าโครงการนี้การกระทำผิดเจตนารมณ์ของทั้ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะเปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการสามารถเจรจาเพื่อขอเปลี่ยนแนวทางการฟื้นฟูได้ในภายหลังก็ตามที ที่สำคัญ แม้จะทราบกันดีว่าการนำหลุมเหมืองลิกไนต์มาใช้เป็นอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานมีความเสี่ยงเรื่องสารปนเปื้อน แต่ที่ผ่านมานายสุรเดช ประเสริฐศรี หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ลำพูนเคยชี้แจงว่า จังหวัดมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนและปัญหาภัยแล้งช่วงฤดูแล้งแก่เกษตรกร

เหตุเพราะลำน้ำลี้มีความลาดชันสูง จากต้นน้ำกับปลายน้ำมีความลาดชันมาก ทำให้เกิดปัญหาการเทน้ำ ในช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาอุทกภัยและในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรก็จะประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้ง ตลอดลำน้ำลี้จะพบว่าชาวบ้านสร้างฝายกักเก็บน้ำเยอะซึ่งก่อเกิดปัญหาทรายกอง ลำน้ำตื้นเขิน

ส่วนปัญหาสารปนเปื้อนนั้น นายสุรเดช เผยว่า ทางจังหวัดจะประสานกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยศึกษาวิจัย ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ขณะที่การศึกษาด้านเทคนิคต่างๆกรมชลประทานจะเข้ามารับผิดชอบ หากไม่มีปัญหาก็จะเป็นผลดีแก่เกษตรกรเพราะโครงการนี้จะเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ใน อ.บ้านโฮ่ง อ.ทุ่งหัวช้าง อ.ป่าซาง และ อ.ลี้
นายมนตรี จันทวงศ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาจากโครงการนี้มีแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาสารตกค้างพวกโลหะหนักต่างๆ เช่น ตะกั่ว แคดเมี่ยม สารหนู   สารเหล่านี้เป็นสารประเภทเดียวกันที่อยู่ในน้ำจากหลุมเหมืองแม่เมาะ

ส่วนการชี้แจงของ จ.ลำพูนกรณีแม่น้ำลี้มีความลาดชันถึง 600 เมตร ซึ่งสร้างปัญหาการเทน้ำและปัญหาความแห้งแล้งนั้น นายมนตรี แย้งว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการพิจารณาความลาดชันนอกจากมองจากระดับความสูงของลำน้ำแล้วต้องพิจารณาความยาวของลำน้ำด้วย นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงความคดเคี้ยวของลำน้ำรวมทั้งลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นตัวชะลอการไหลของน้ำด้วยไม่ใช่มองแค่อัตราส่วนความยาวและความสูงของลำน้ำเท่านั้น

นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การชี้แจงว่าลำน้ำลี้มีความลาดชันสูง ไม่สามารถกักเก็บน้ำและเกิดปัญหาความแห้งแล้งนั้นเป็นการอ้างเพื่อความชอบธรรมในการดำเนินการเท่านั้น อีกทั้งการนำเหมืองแร่เก่ามาทำเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานก็ไม่มีใครนิยมทำกันเพราะมีความเสี่ยงเรื่องสารปนเปื้อนสูงมาก

นายอนันต์ วังเวียง แกนนำเครือข่ายลุ่มน้ำลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการนี้ทาง ส.ส.และ       ส่วนราชการแจ้งกับชาวบ้านว่าเป็นโครงการแก้มลิง แต่ตนเห็นว่าไม่ใช่แน่ เพราะหลุมเหมืองใหญ่มากกินพื้นที่นับพันไร่ ขณะที่ดึงน้ำจากแม่น้ำลี้ลงไปในเหมืองตนคิดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีเพราะน้ำส่วนหนึ่งต้องซึมลงไปใต้ดินด้วย ดังนั้นระหว่างรอให้น้ำเต็มเหมืองชุมชนท้ายน้ำจะได้รับปัญหาแน่นอน

นอกจากนี้ นายอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เครือข่ายลุ่มน้ำลี้มีจุดยืนที่ชัดเจนคือไม่ต้องการเพราะนอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือเรื่องสารตกค้าง ที่ตนทราบมาว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่นำเหมืองแร่ลิกไนต์มาทำเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน

“ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้แค่ว่าจังหวัดจะเอาหลุมเหมืองมาทำเป็นอ่างเก็บน้ำเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ว่าสารตกค้าง สารปนเปื้อนมีอะไรบ้าง มีผลกระทบต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อมอย่างไรเพราะสิ่งเหล่านี้เรามองไม่เห็น ดังนั้นโครงการนี้เราอยากให้จังหวัดทบทวนใหม่ เพราะเท่าที่เห็นจะมีผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ” นายอนันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความเสื่อมโทรมของลุ่มน้ำลี้จะเห็นว่าปัจจัยหลักมิได้อยู่ที่ลักษณะทางกายภาพของลำน้ำ ทว่าอยู่ที่กิจกรรมส่งมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเสียมากกว่า อีกทั้งปัจจุบันกิจกรรมเหล่านี้ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแก้ปัญหาของทางจังหวัดแม้ว่าอาจทำไปภายใต้เจตนาที่ดี แต่สิ่งที่ต้องครุ่นคิดให้มากไปกว่านั้นคือต้องพิจารณาถึงต้นตอ สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง มิใช่คิดแค่ว่าเมื่อขาดน้ำก็ต้องหาน้ำมาให้เพียงพอ ทั้ง การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ไม่เว้นแม้กระทั่งการนำหลุมเหมืองลิกไนต์มาใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ซึ่งไม่มีประเทศไหนนิยมทำกันเพราะปัญหาสารปนเปื้อน

ในขณะที่ทางออกและทางเลือกอื่นๆในการจัดการปัญหาดังกล่าวยังมีอีกหลายแนวทาง เช่น การขุดลอกตะกอนตลอดลำน้ำเพื่อให้น้ำไหลสะดวก การส่งเสริมภูมิปัญญาระบบเหมืองฝายให้ชุมชนบริหารจัดการกันเอง  ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในระบบของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่เฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นข้อมูลที่น่าสนใจมาก

อย่างไรก็ตาม โครงการผันน้ำจากแม่น้ำลี้ลงสู่เหมืองลิกไนต์บ้านปูที่ จ.ลำพูน ยังคงเป็นแนวคิดที่สร้าง ข้อวิตกกังวลเรื่องสารปนเปื้อนของคนลุ่มน้ำลี้รวมทั้งทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหาจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ คงต้องร่วมกันติดตามตรวจสอบกันต่อไป จากข้อกังวลของประชาชนและนักอนุรักษ์ในท้องถิ่นที่เห็นว่าเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นใน อ.ลี้ จ.ลำพูน กลุ่มทุนทำเหมืองมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.เหมืองแร่อย่างถูกต้องทุกประการจึงส่งผลและยังมีแผนการพัฒนาระบบชลประทานของทางจังหวัดลำพูนที่พยายามใช้ซากของเหมืองมาเป็นประโยชน์ในระบบป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งใช้เป็นแหล่งชลประทานของคนในลุ่มน้ำลี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งสัญญาณอันตรายอย่างมากให้กับสภาวะแวดล้อม  อย่างไรก็ตามถ้ามองในภาพปัจจุบัน (ปี 2556) โครงการต่างๆ หยุดชะงักและปล่อยให้คนท้องถิ่นอยู่กับมลภาวะที่น่ากลัวต่อไปอย่างช่วยอะไรไม่ได้ แม้ว่าคนในท้องถิ่นอยากที่จะย้อนกลับไปสู่วันที่ยังไม่มีการขุดแร่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว

สมโรจน์ สำราญชลารัตน์  เขียน

แสดงโฆษณา

 


Copy Link : ท่านสามารถ copy ลิงค์ของข่าวนี้เพื่อเผยแพร่ต่อได้
แชร์หน้านี้ ไปยัง facebook ตอบกลับกระทู้นี้ VV กดถูกใจกระทู้นี้ VV


ลิงก์ผู้สนับสนุน

ลิงก์ผู้สนับสนุน

 

 

 

 

 



แจ้งลบกระทู้นี้

อ่าน 2036

แสดงความคิดเห็น โดย โน้ต cmprice IP: Hide ip , วันที่ 02 พ.ย. 58 เวลา 11:38:58
 

 

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 

 
กรุณาอ่าน
ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถ ระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใด ที่ขัดต่อกฎหมายและ ศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ 08-0500-1180 เพื่อให้ผู้ควบคุม ระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป
 
 
 


ปิดโฆษณานี้X

ผ้าพันคอราคาถูก

ปิดโฆษณานี้X

จำหน่าย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าฝ้ายทอมือ ราคาส่ง ราคาถูก เริ่มต้นที่ 25 บาท/ผืน ผลิตจากผ้าฝ้ายแท้ 100%โซ่สเตอร์และวงล้ออลูมิเนียม ดี.ไอ.ดี ถูกผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของประเทศญึ่ปุ่น และส่งไปยังผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกเครื่องฟอกอากาศ pm2.5 Oxygen สุดคุ้ม ราคาถูก 1,490 ลำพูน-เชียงใหม่ ส่งฟรี!
www.cmprice.com เว็บไซต์ที่คนเข้าชมมากที่สุดในเชียงใหม่ !!! เห็นชัด เห็นบ่อย ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพียง 1500 บาทต่อเดือน
สนใจลงโฆษณาตรงนี้ ติดต่อ 080-500-1180

 


หน้าแรก l หางานเชียงใหม่ | ตลาดออนไลน์ | เว็บบอร์ด | อัตราค่าลงโฆษณา | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี | ติดต่อเรา


เพื่อนบ้านเราทั้งหมด วิธีแลก Link

© cmprice.com since 14 Jan 2005
E-mail: info@cmprice.com
FaceBook : facebook.com/cmprice.fc
TEL. 08-0500-1180
Line id: cmprice









www.cmprice.com ที่นี่มีสิ่งดีๆ รอคุณอยู่
ผู้สนับสนุน แบบพิเศษ

บ้านหนองช้างคืน | เครื่องฟอกอากาศ เชียงใหม่-ลำพูน | ผ้าพันคอราคาถูก | ของชำร่วย | ลงโฆษณาฟรี ประกาศฟรี