|
|
|
|
| หน้าแรกของเว็บไซต์ |
|  | "RoboBraille" บริการแปลงไฟล์เอกสารเป็นอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดฮิต มีคนนิยมใช้เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง พบคุณสมบัติเด่นเรื่องการใช้งานง่าย จึงสามารถดึงดูดผู้ใช้ได้รวดเร็ว บริการแปลงไฟล์ของ RoboBraille เน้นการทำงานแบบอัตโนมัติ ระบบจะเป็นผู้จัดการทั้งหมดเพียงลำพัง ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานคอยให้บริการ เว้นแต่ช่วยในการอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ รูปแบบการให้บริการคือ ผู้ใช้เพียงส่งข้อมูลที่ต้องการจะแปลงเป็นอักษรเบรลล์ให้กับทางเว็บไซต์ผ่านทางอีเมล (สามารถส่งได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความล้วน (.txt) เอกสารเวิร์ด (.doc) หรือไฟล์ .html) จากนั้นเพียงชั่วอึดใจ ระบบจะส่งไฟล์เสียง (.MP3) ของข้อมูลดังกล่าวกลับมาให้ หรือมิเช่นนั้นจะส่งมาเป็นอักษรเบรลล์แบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่เปิดไฟล์อักษรเบรลล์แบบอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีอุปกรณ์พิเศษเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ (tactile display) สำหรับช่วยในการอ่านข้อมูลเหล่านั้นโดยเฉพาะ โดยจะประกอบด้วยแป้นหมุดเล็ก ๆ จำนวนมาก สามารถขยับขึ้นลงได้ตามรูปแบบของอักษรเบรลล์ หรือมิเช่นนั้นจะสั่งพิมพ์ทางพรินเตอร์ก็ได้ (ต้องเป็นพรินเตอร์ที่สามารถพิมพ์อักษรเบรลล์ได้เท่านั้น)
| "เราต้องการพัฒนาระบบที่ทำงานได้แบบอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องยุ่งยากใด ๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงแค่ใช้งานอีเมลได้เท่านั้น เพราะจากการศึกษาของเราพบข้อสรุปตรงกันว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะให้ผู้ใช้ทั่วไปเป็นคนผลิตสื่อที่ใช้อักษรเบรลล์ด้วยตัวเอง" Lars Balieu Christensen หนึ่งในทีมงานผู้พัฒนากล่าว ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าว ทีมงานจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับอักษรเบรลล์เพิ่มเติมค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ของตัวอักษร และการวางเลย์เอาท์ของข้อความ ปัจจุบัน บริการของ RoboBraille รองรับทั้งสิ้น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาเดนมาร์ก ภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาเลียน และภาษาโปรตุเกส อย่างไรก็ดี บริการของ RoboBraille ยังอยู่ในช่วงทดสอบเท่านั้น ซึ่งทางทีมงานเปิดเผยว่าในอนาคตมีแผนจะเพิ่มฟีเจอร์การแปลงเอกสาร PDF เป็นอักษรเบรลล์ลงไปด้วย โครงการพัฒนา RoboBraille นี้ได้รับเงินสนับสนุนจากอียูเป็นจำนวน 500,000 ปอนด์ และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบได้ในช่วงต้นปีหน้า โดยจะไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ สำหรับผู้ใช้ที่เป็นประชาชนทั่วไป หรือองค์กรที่ไม่แสวงกำไร พร้อมกันนี้ นายคริสเตนเซนยังคาดว่า บริการของ RoboBraille จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธุรกิจเอกชนอีกหลายทาง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตยา ซึ่งในอนาคตจะมีการประกาศใช้กฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตต้องทำฉลากยาสำหรับคนตาบอดแปะข้างขวดด้วย หรือในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องการผลิตข่าวสารสำหรับแจ้งให้คนตาบอดรับทราบ ก็อาจมีผู้สนใจให้ทุนเพิ่มเติมได้ ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการของ RoboBraille ประมาณวันละ 400 ครั้ง ซึ่งความสามารถของระบบสามารถรองรับได้สูงสุดถึงวันละ 14,000 ครั้งเลยทีเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรันระบบช่วงสองปีแรกนี้คาดว่าใช้เงินประมาณ 135,000 ปอนด์ Company Related Links : RoboBraille
|
บทความจาก : ไทยรัฐ |
|
|
|
|
|
|