• อาจารย์แพทย์ มช. เตือนผู้ปกครอง เฝ้าระวังโรคติดเชื้อ RSV และโรคมือเท้าปาก ระบาดหนักช่วงฤดูฝน |
โพสต์โดย คนข่าว , วันที่ 04 ก.ย. 67 เวลา 17:20:34 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
อาจารย์แพทย์ มช. ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยดูแลบุตรหลาน ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด รวมถึงปลูกฝัง และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้งไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ตาม
รศ.นพ.มงคล เหล่าอารยะ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ในช่วงหน้าฝน ไวรัสหลายตัวจะกระจายได้ง่าย เนื่องจากอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศค่อนข้างเหมาะสม เมื่อเปิดเทอมเด็กมาอยู่รวมกัน ทำให้โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสมากด้วย โดยเฉพาะโรคยอดฮิต คือ การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง การระบาดของเชื้อนี้มักพบในฤดูฝนและฤดูหนาวในประเทศไทย
อาการเริ่มต้นจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา คือ ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล โดยลักษณะของไข้อาจจะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำ ๆ ก็ได้ แต่หากการดำเนินโรครุนแรงมากขึ้นเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีอาการของภาวะหลอดลมอักเสบ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ และอาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้ อาการที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV และมีอาการไอมาก เสมหะมาก หายใจมีเสียงวี๊ดหรือมีเสียงครืดคราด มีอาการหอบเหนื่อยหายใจเร็วอกบุ๋ม ควรรีบมาพบแพทย์ ป้องกันได้โดย ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เลี่ยงการไปในพื้นที่แออัด ปิดปากและจมูกเมื่อไอ จาม เลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อ RSV อีกทั้งยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัส RSV โดยตรงอีกด้วย การรักษาเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แต่ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจจะพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในการป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้
โรคมือเท้าปากเป็นอีกโรคที่ระบาดมากในช่วงนี้ มักพบในเด็กที่เริ่มไปโรงเรียนหรือเด็กชั้นอนุบาล เกิดจากเชื้อไวรัส พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน อาการของโรค คือ เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (เด็กเล็กถึงอนุบาล) อาการมักหายได้เองภายใน 3-10 วัน สามารถติดต่อทางการไอ จาม สัมผัสน้ำลาย หรืออุจจาระ มีระยะฟักตัว 3-6 วัน พบเชื้อทางน้ำลาย 2-3 วัน ก่อนมีอาการ จนถึง 1-2 สัปดาห์หลังมีอาการ บางรายโดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อไวรัส เอ็นเทอโรไวรัส 71 อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้ เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่พบน้อยในประเทศไทย ซึ่งเชื้อชนิดนี้มีวัคซีนป้องกันเอ็นเทอโรไวรัส 71 แต่วัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ได้
คำแนะนำสำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อในเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรดูแลลูกในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด ฝึกให้ใส่หน้ากากอนามัยสม่ำเสมอ รวมถึงปลูกฝัง และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้งไม่ว่าจะที่โรงเรียนหรือที่บ้านก็ตาม
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลิงก์ผู้สนับสนุน
กระทู้/ข่าว อื่นๆ ที่น่าสนใจ
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 481 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย คนข่าว
IP: Hide ip
, วันที่ 04 ก.ย. 67
เวลา 17:20:34
|