ในยุคนี้อะไรๆ ก็แสนจะสะดวกสบาย เมื่อมีบริการต่างๆ ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการทำธุรกรรม ทั้งการทำธุรกรรมด้านการเงิน โอน จ่าย ฝาก-ถอน หรือซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ การใช้บริการจองที่นั่งเครื่องบิน ตั๋วชมภาพยนตร์ การทำงานติดต่อสื่อสาร หรือแม้แต่การนำไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือ ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากโครงข่ายของโทรศัพท์พื้นฐาน สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ได้ จึงทำให้ดูเหมือนว่าชีวิตของคนยุคใหม่แทบต้องพึงพาอินเทอร์เน็ต เหมือนกับต้องพึงพาสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปาและโทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงบริการอินเทอร์เน็ต คนส่วนหนึ่งคงจะมีความไม่พอใจอยู่ไม่น้อย กับคุณภาพการให้บริการที่พูดกันว่า 3 วันดี 4 วันล่ม โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด และพื้นที่ชานเมือง ยิ่งมีปัญหามาก แน่นอนว่าคนที่รับผิดชอบก็คงเป็นตัวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ที่ต้องดูแลลูกค้า และคอยรับฟัง-แก้ไข เพื่อให้บริการเป็นไปอย่างราบรื่น แต่จากข่าวที่เกิดขึ้นมาประมาณกลางเดือน มิ.ย.2551 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สะพานสูง พบการลักลอบตัดสายโทรศัพท์กว่า 3,000 คู่สายบริเวณหมู่บ้านสัมมากร ถนนสุขาภิบาล 3 จนทำให้ทั้งคนหมู่บ้าน และสถานที่โดยรอบไม่สามารถใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไปหลายวัน จึงเป็นที่น่าจับตาว่า กรณีการลักขโมยสายโทรศัพท์ หรือสายไฟฟ้า ที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของโจรกิ๊กก๊อก ที่หวังแค่เอาทองแดงจากสายเคเบิลไปขายนั้น แท้จริงความเสียหายต่อสังคมออนไลน์ และธุรกิจที่ต้องถูกตัดขาดอาจจะมีมากมายมหาศาล เพราะต้องเสียทั้งโอกาส และเสียเวลารอระบบกลับมาปกติเหมือนเดิม ไอทีไดเจส ได้มีโอกาสเข้าไปสอบถามกับผู้ที่รับผิดชอบกับสายโทรศัพท์ ที่ห้อยระโยงระยางอยู่ทั่วประเทศ ถึงรายละเอียดความเสียหาย พร้อมทั้งมาตรการณ์ป้องกัน และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จากผู้บริหารสูงของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที นายวรุธ สุวกร รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ให้ข้อมูลถึงความเสียหายจากการลักลอบตัดสายโทรศัพท์ว่า จากภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน และวางงานมากขึ้น ผนวกกับราคาทองแดงในตลาดมีราคาสูงขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2548 จึงเป็นสาเหตุให้มีการลักลอบตัดสายโทรศัพท์บ่อยครั้ง โดยพื้นที่ที่ถูกลักลอบตัดสายจะเป็นแถบชานเมืองกรุงเทพฯ หรือปริมลฑลที่อยู่ห่างไกลชุมชน บริเวณที่มีต้นไม้ขึ้นรกปิดบัง และไม่มีไฟแสงสว่างเพียงพอ เห็นได้จาก 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการลักลอบตัดสายโทรศัพท์กว่า 3,000 คู่สายบริเวณหมู่บ้านสัมมากร ถนนสุขาภิบาล 3 จนทำให้ทั้งคนหมู่บ้าน และสถานที่โดยรอบไม่สามารถใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตไปหลายวัน ทั้งนี้จุดที่ถูกตัดก็อยู่บริเวณใต้สะพานข้ามคลองที่มีต้นไม้และวัชพืชขึ้นรกรุงรัง กก.ผจก.ใหญ่ ทีโอที ให้ข้อมูลเสริมว่า หากดูสถิติจะเห็นว่าเมื่อปี 2550 ทีโอทีถูกลอบตัดสายโทรศัพท์ไป 3,269 ครั้งมูลค่าความเสียหายประมาณ 106 ล้านบาท แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 20 ล้านบาท และภูมิภาคอีก 86 ล้านบาท ส่วนในปี 2551 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2551มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 28 ล้านบาท รวมความเสียหายทั้งหมดมีมูลค่า 134 ล้านบาท ขณะที่ทีโอทีต้องนำงบประมาณมาซ่อมแซมในส่วนที่เสียหายในแต่ละปีประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากเป็นความเสียหายในด้านโครงข่าย และงบประมาณการซ่อมแล้ว ยังกระทบต่อรายได้จากการให้บริการทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน และบริการอินเทอร์เน็ตเอดีเอสแอล ที่ต้องใช้เวลาในการซ่อมระบบนานพอสมควร นายวรุธ อธิบายความเสียหายต่อการให้บริการบรอดแบนด์ว่า การที่สูญเสียสายโทรศัพท์ไป ย่อมกระทบต่อการให้บริการ ADSL แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่บริการนี้เป็นสิ่งที่ต้องการของผู้ใช้ทั้งตามบ้าง และองค์กรธุรกิจ แม้ว่าทีโอทีจะมีคู่สายสำรองไว้ตามเสาประมาณ 10% ก็คงไม่อาจชดเชยกับวงจรที่เสียหายไป ดังเช่นที่หมู่บ้านสัมมากร หายไป 3,000 คู่สาย คู่สายสำรองไม่พอแน่นอน เพราะเคเบิลที่มักถูกตัดจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 2-3 พันคู่สาย ทำให้การนำเอาคู่สายใหม่มาเปลี่ยนค่อนข้างมีปัญหา ดังนั้นทางทีโอทีก็กำลังมองหาทางเลือกใหม่ เช่น การเปลี่ยนมาเป็นใยแก้วนำแสงแทนสายทองแดง และการหันมาใช้บรอดแบนด์ไร้สาย กก.ผจก.ใหญ่ ทีโอที อธิบายต่อว่า ในส่วนของระบบเครือข่ายโทรศัพท์ หรือ ส่วนที่เลยจากตู้ชุมสายโทรศัพท์สีเขียวไป ก็พยายามให้มีการวิ่งสัญญาณไปได้ทั้งซ้ายและขวาของตู้ ขณะที่การรองรับการใช้บรอดแบนด์ของตัวตู้สาขาเพียงพออยู่แล้ว แต่ก็มีแผนจะเปลี่ยนตู้สาขาให้เป็นแบบบรอดแบนด์ ไอพี เน็ตเวิร์ค เพื่อรองรับบรอดแบนด์ที่ความเร็วเพิ่มขึ้น ขณะที่วงจรอินเทอร์เน็ตระหว่างต่างประเทศ ทีโอทีก็ได้พยายามจัดหาเกตเวย์ รวมถึงมองหาเอกชนเพื่อร่วมทุนในการใช้งานเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ นายวรุธ อธิบายอีกว่า ในด้านการเปลี่ยนสายโทรศัพท์จากสายทองแดงมาเป็นเคเบิลใยแก้วนั้น เนื่องจากสายทองแดงมีน้ำหนักมากเมื่อมีจำนวนคู่สายมากๆ จะไปทำให้เสาไฟฟ้าหนัก ทางการไฟฟ้านครหลวง กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขาก็ไม่ค่อยชอบ การใช้เคเบิลใยแก้วจะลดปัญหาเรื่องนี้ ทีโอทีเริ่มทำโครงการไฟเบอร์ทูโฮมแล้วที่จังหวัดภูเก็ต ที่คาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่กว่า 90% ของเกาะภูเก็ต และน่าจะดำเนินการเสร็จในสิ้นปีนี้ โดยการปรับปรุงระบบสายโทรศัพท์ในต่างจังหวัดจะง่ายกว่าในกรุงเทพ ทำง่ายและรื้อง่าย แต่ในบางพื้นที่ กฟภ.ก็ไม่ยอมให้ทีโอทีทำ จุดนั้นก็ต้องตั้งเสาเอง ขณะที่กรุงเทพฯ ทำลำบากเพราะ กฟน.เองก็ไม่อยากให้ทีโอทีลากสายมาพาดด้วย “ในส่วนของการแก้ปัญหาการลักลอบตัดสายโทรศัพท์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวของทีโอทีนั้น ได้แก่ 1.การนำเอาเครื่องมือเข้ามาช่วยตรวจสอบจุดที่ถูกตัดสายเคเบิล 2.การติดอุปกรณ์เข็มขัดรัดเคเบิล แล้วพันด้วยเทปดำบนเคเบิลที่แขวนบนอากาศ เพื่อให้การลักลอบตัดเคเบิลทำได้ลำบากขึ้น 3.จัดพนักงานเฝ้าระวังบริเวณทมีการลักลอบตัดเคเบิลเผป็นประจำ 4.จัดให้มีการตรวจตราในเวลากลางคืน ตามจุดที่คาดว่าจะมีการลักลอบตัดสายเคเบิล 5.การดำเนินงานด้านมวลชนสัมพันธ์ เพื่อขอความร่มมมือจากหน่วยงานราชการ และผู้นำชุมชนในท้องถิ่นช่วยเป็นหูเป็นตา และให้ข้อมูลของคนร้าย 6.ตั้งรางวัลนำจัดแก่ผู้ที่ให้เบาะแส หรือข้อมูลคนร้าย 7.การมอบข้อมูลแผนที่แสดงจุดที่ถูกลักลอบตัดแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 8.ปลูกจิตสำนึกแก่ประชาชนให้มีส่วนรับผิดชอบกับทรัพย์สินของทางราชการ และ 9.มีบทลงโทษที่รุนแรงกับพนักงานทีโอที ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดสายเคเบิล” กก.ผจก.ใหญ่ ทีโอที กล่าว ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลของ ทีโอที ในฐานะที่เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ทั่วประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด เกี่ยวกับปัญหาที่บางคนอาจจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะเป็นเรื่องของการลักขโมย เหมือนกับการขโมยเศษเหล็กไปขายตามร้านขายของเก่า แต่ที่จริงหัวขโมยเหล่านี้ก็เป็น ต้นเหตุของการที่อินเทอร์เน็ตล่ม ที่ทำให้ชีวิตออนไลน์ต้องสะดุด ล้มคว่ำไม่เป็นท่า หงุดหงิดพาลทำอารมณ์เสีย สิ่งที่ดีที่สุดในการแก้ปํญหานี้ คือ การช่วยกันดูแลสมบัติสาธารณะ และเฝ้าระวัง หากพบการลักลอบตัด หรือเห็นเคเบิลขาดก็ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของทีโอที ทรู หรือ ทีทีแอนด์ที เจ้าของสายเคเบิลนั้นๆ เพื่อรีบดำเนินการแก้ไข อย่าปล่อยทิ้งไว้ หรือนิ่งเฉยเพราะสุดท้ายปัญหาตรงนี้ก็อาจจะกระทบกับการใช้อินเทอร์เน็ตของทุกท่านได้... จุลดิส รัตนคำแปง itdigest@thairath.co.th |