ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
โปสกวน แฟชั่น ฮิตของ วัยรุ่น โดยคนขายเผย โปสกวน นี้เป็นคำด่าขายได้และกำลังนิยมอย่างมากในหมู่นักศึกษา ด้าน ราชบัณทิตยสถาน เผย โปสกวน หยาบคายไม่ควรนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ
ในภาวะที่โปสการ์ดเป็นที่นิยม จนมีการทำรูปแบบต่าง ๆ ออกมาจำหน่ายมากมายนั้น ล่าสุด มีพ่อค้าหัวใสคิดพลิกแพลงใช้คำด่าคำไม่สุภาพมาเป็นจุดขายวัยรุ่นแล้วเรียกมันว่า "โปสกวน" บางใบเป็นรูปสุนัขกับดอกไม้ พร้อมถ้อยคำว่า "อีดอก" บางใบเป็นรูปใบหน้าสุนัขสีดำ พร้อมถ้อยคำว่า "เกิดมามีกรรม ตัวดำ เสือกสวย" ขณะที่บางเจ้าใช้ถ้อยคำกวนๆ เช่นทำเป็นรูปตุ๊กตา พร้อมตัวอักษรว่า "รักมึงจัง นังตอแหล"
จากการสอบถาม กิตตินันท์ ผู้ขายโปสกวนรายหนึ่ง กล่าวว่า ทำขายได้มาระยะหนึ่งแล้ว เบื้องต้นขายโปสการ์ดที่ทำจากภาพถ่ายของตัวเองแบบธรรมดาๆ แต่ภายหลังเห็นว่าคำประเภท ควาย...อะไรๆ ก็กู, คว้าย...ควาย ที่ยังรักมึงอยู่ทุกวันนี้ ฯลฯ เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นและคนเริ่มต้นทำงาน จึงทดลองนำมาใส่ในภาพและมีคนชอบพอสมควร
สำหรับปฏิกิริยาของคนอีกกลุ่มที่เป็นผู้ใหญ่แล้วนั้น ผู้ขายกล่าวว่า บางคนก็ดูงง ๆ แต่ไม่ได้ต่อว่าอะไรนัก แค่บ่น ๆ ว่าไม่อยากให้มีคำหยาบหรือคำพูดอย่างมึง-กูอยู่บนโปสการ์ด เข้าใจว่าเขาคงอยากจะให้เราใช้คำพูดเพราะๆ ซึ่งมันจะดูสุภาพและน่ารักกว่า หรือบางคนชอบภาพโปสการ์ด แต่เขาไม่อยากให้มีคำหยาบ ก็จะพูดทำนองตัดพ้อนิดๆ แต่ยังไม่เคยเจอคนที่เข้ามาต่อว่าถึงขั้นให้เลิกขาย แรงขนาดนั้นยังไม่มี แต่ผมก็พร้อมจะอธิบายให้เข้าใจว่าทำไมถึงใช้คำแบบนี้ เชื่อว่าใครที่ได้ฟังเหตุผลและรู้ถึงความเป็นไปของวัยรุ่นสมัยนี้แล้ว อาจจะเปลี่ยนความคิดเรื่องนี้ไปเลยก็ได้
ขณะที่ ซี พ่อค้าอีกรายที่วางขายโปสกวน ว่างัย...! สาดด, ว่าไง E หอย, อีดอก กล่าวว่า ตอนแรกขายโปสการ์ดอวยพรทั่วไปตามปกติ ขณะเดียวกันก็มีคำกวนๆ ประเภท "อีวอก" วางขายอยู่บ้าง แต่ลูกค้าซึ่งอ้างว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังคนหนึ่งมาสั่งทำโปสการ์ด "อีดอก" จึงจัดการให้
"หลังจากนั้นก็มาสั่งทำอีกเรื่อยๆ อย่างน้องคนหนึ่งเดินมาบอกว่า พี่ขอแบบ "ไอ้เหี้ย เสือก" แบบนี้เลย แล้วพอเราทำออกวางขายก็มีเด็กนักเรียนมาซื้อเยอะมาก แล้วไม่มีเด็กคนไหนบอกว่าหยาบคาย" เขากล่าว
พ่อค้ารายเดียวกันยังบอกอีกว่า เหตุผลที่ทำโปสการ์ดแบบนี้ขายเพราะเห็นว่าผู้ซื้อมีความต้องการ เป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทานตามปกติ
"เราขายของ ถ้าไม่มีอะไรที่แปลกใหม่เลย ก็ขายไม่ได้ เลยต้องมีอะไรที่แรงๆ บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยเรื่องดีๆ นะ อย่างตอนนี้กระแสรณรงค์ภาวะโลกร้อนก็เตรียมโปสการ์ดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ออกมาแล้ว"
ทางด้าน นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงกระแสนิยมดังกล่าวว่า เป็นการสร้างสรรค์งานประเภทหนึ่ง ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าไม่สุภาพ หยาบคาย แต่คนที่ซื้อต้องคิดแล้วว่าจะส่งให้กับใคร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ตัวเองสนิท บางคนซื้อไปเพราะความแปลก และไม่ได้คิดจะส่งให้ใคร หากหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือดูแลในส่วนของวัฒนธรรม และภาษา อาจทักท้วง ซึ่งทำได้ แต่ไม่ควรสั่งห้ามหรือสั่งเก็บ
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนถึงความคิด และความรู้สึกของเด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่ในลักษณะที่พิลึก และแปลกประหลาด ซึ่งเริ่มขยายวงกว้างในแวดวงโฆษณาบ้างแล้ว เนื่องจากเป็นคำโดนใจวัยรุ่น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องพยายามทำความเข้าใจ พร้อมทั้งเปิดใจกว้างยอมรับ ที่สำคัญไม่อยากให้ผู้ใหญ่มองเรื่องดังกล่าวในแง่ลบ
ขณะที่ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า เป็นการใช้ภาษาตามธรรมชาติของเด็ก และเยาวชน แต่การนำภาษาดิบที่ยังไม่ผ่านการขัดเกลาไปวางขายในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะประเทศไทยมีภาษาที่ผ่านการขัดเกลา และเหมาะสมที่จะนำมาใช้อยู่แล้ว การนำคำดิบมาเผยแพร่ในโปสกวน แล้ววางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในขณะนี้ไม่ถูกกาละเทศะ โดยปกติคำดิบเหล่านี้จะถูกนำไปใช้เป็นการส่วนตัว หรือใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น หากโปสกวนดังกล่าวแพร่กระจายออกไปในวงกว้างขึ้น จะกลายเป็นแฟชั่น ทำให้เด็กและเยาวชนหลงผิดไปกับสื่ออันตราย ดังนั้น ผู้ปกครองควรสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้บุตรหลานหลงผิดไปกับสื่ออันตรายเหล่านี้
"แม้ว่าโปสกวนจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมชั่วคราว แต่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีอารยธรรม และศีลธรรมที่ดีงาม ดังนั้นการใช้ภาษาในการสื่อสารต้องไม่ละเมิดสังคม และพิจารณาความเหมาะสมของสังคมที่มี 2 ขั้ว ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มร่วมสมัย เข้าใจว่าวัยรุ่นชอบอะไรที่แรง ๆ โดนใจ แต่ต้องเป็นไปในเรื่องที่สร้างสรรค์ เพราะเด็กและเยาวชนเหล่านี้เป็นอนาคตของชาติ หากสังคมส่งเสริมในทางที่ไม่ดีก็จะเป็นการฉุดเด็ก และเยาวชนให้หลงผิด" น.ส.ลัดดากล่าว
ทางด้านนางกาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และราชบัณฑิต กล่าวว่า มองโปสกวนว่าเป็นคำหยาบคาย ไม่เหมาะสมที่จะนำมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ เพราะสังคมไทยมีวัฒนธรรม และภาษาที่ดีงาม จึงไม่ควรส่งเสริมให้เด็ก และเยาวชนพูดคำหยาบคาย โดยเฉพาะผู้หญิง เพราะการใช้คำหยาบคายในการสื่อสารทั้งการพูด และการเขียน สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลนั้นๆ ขาดการศึกษา มีพื้นฐานความคิดต่ำ หากผู้ใดใช้คำหยาบคายในการสื่อสารจะไม่เป็นที่น่ายกย่องของผู้รับฟัง
นางกาญจนากล่าวว่า ที่ผ่านมา การใช้คำหยาบคายจะเกิดขึ้นเมื่อมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน แต่ขณะนี้พบว่ามีนักเรียนใช้คำหยาบคายโดยไม่รู้สึกอายในที่สาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะใช้สื่อสารกับเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก หากสังคมปล่อยให้มีการใช้คำหยาบคายมากขึ้น จะส่งผลให้มีการสรรหาคำหยาบคายมาวางจำหน่ายมากขึ้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการดำเนินการในทางกลับกัน โดยสรรหาคำพูดที่ไพเพราะ และกินใจผู้ฟังมาวางจำหน่ายแทน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนอยากทำดี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสหลายครั้งว่า ให้คนไทยคิดดี พูดดี ทำดี หากสังคมไทยส่งเสริมให้คนคิดไม่ดี พูดไม่ดี แล้วจะให้คนทำดีคงเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าคำพูดดีๆ ที่มีความหมายกินใจวัยรุ่นมีจำนวนมาก เข้าใจว่าผู้ประกอบการคงมีความสามารถในการนำเสนอคำพูดดีๆ ให้สามารถขายได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยคิดดี พูดดี ทำดีสนองพระราชดำรัสในหลวงได้อีกทางหนึ่ง" นางกาญจนากล่าว
ข้อมูลจาก
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
ข่าวจากกระปุก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|