• ออกกฎหมายฟัน บิ๊กขี้หลี พูด-มอง แทะโลม |
โพสต์โดย reporter , วันที่ 07 มี.ค. 52 เวลา 10:50:42 IP: Hide ip |
กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
ออกกฎหมายฟันบิ๊กขี้หลี พูด-มอง แทะโลม (ข่าวสด)
หลายองค์กรจี้จัดการ "บิ๊กขี้หลี" ในวงราชการ-เอกชน "จรัญ ภักดีธนากุล" ชี้ทุกวันนี้เจ้านายที่มีพฤติกรรม สุนัขจิ้งจอกกับลูกน้องสาวๆ มีอยู่มาก แต่ปัญหาการคุกคามทางเพศไม่เป็นที่รับรู้มากนัก ผู้เสียหายก็ไม่รู้ว่ามีสิทธิปกป้องตัวเอง ถึงเวลาต้องมีกฎหมายคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ เพิ่มโทษทั้งวินัย อาญา ทำให้เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั้งองค์กร พรรคการเมืองที่มีอำนาจต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย จัดเสวนาวันสตรีสากล ประจำปี 2552 เรื่อง "กฎระเบียบข้าราชการ พนักงานรัฐกับการบังคับใช้ : คุ้มครองหรือละเมิดสิทธิสตรีทางเพศ" โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายหัวข้อ ปัญหา กฎระเบียบและการบังคับใช้ว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศสตรีในหน่วยงานราชการยังไม่เป็นที่รับรู้มาก แม้แต่คนถูกคุกคามทางเพศยังไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิปกป้องต่อสู้ ทั้งที่น่าจะทำให้ผู้บังคับบัญชาตระหนักว่าจะทำพฤติกรรมสุนัขจิ้งจอกครองอำนาจไปคุกคามใครไม่ได้ หากทำให้เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั้งองค์กร ผู้บังบัญชาจะไม่กล้าทำ แต่ตอนนี้ยังกล้าทำกันอยู่เงียบๆ ลับๆ เนื่องจากโทษทางวินัย อาญา ของภาครัฐยังอ่อนกว่าภาคเอกชนที่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ห้ามนายจ้างล่วงเกินทางเพศลูกจ้าง มีโทษทางอาญา และเรื่องอยู่ที่ศาลแรงงานจำนวนมาก
"ขณะที่การคุกคามทางเพศในระบบราชการ ทำได้แค่ร้องขอความเป็นธรรมผู้บังคับบัญชา อย่างมากทำเพียงขอให้ระงับพฤติกรรม หากมีหลักฐานมัดแน่นก็มีความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ทำอะไรไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็มาขอรอมชอม ว่ากล่าวตักเตือนภาคทัณฑ์ หรือลดเงินเดือนแทบไม่มีให้เห็น" นายจรัญกล่าว
นายจรัญ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าถึงเวลาภาครัฐต้องมีกฎหมายคุกคามทางเพศโดยเฉพาะเหมือนภาคเอกชน และทำให้เข้มข้นจริงจัง ปรับโทษทางอาญาเพิ่มขึ้น และต้องมีโทษทางแพ่ง เพราะการคุกคามทางเพศเป็นการละเมิดทางแพ่งที่กดขี่ข่มเหงที่ชั่วร้าย คนกระทำต้องรับผิดชอบทางละเมิดจ่ายค่าเสียหาย มิฉะนั้นจะยับยั้งพฤติกรรมพวกนี้ไม่ได้ อย่างสหรัฐอเมริกา หากมีพฤติกรรมแบบนี้จะโดนค่าเสียหายแรงมาก และเอาผิดไปถึงผู้บังคับบัญชา หน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม บริษัทของผู้มีพฤติกรรมคุกคาม ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดในองค์กร หรือเอาคนไม่ดีเข้ามาทำงานก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ตอนนี้การเรียกค่าเสียหายเชิงลง โทษไทยยังไม่มี จากนี้ต้องปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนในสังคม
"พรรคการเมืองมีอำนาจต้องแก้ปัญหาจริงจัง ไม่ใช่เฉยชาให้การยกย่องผู้บริหารนักรัก แบบผู้ชนะสิบทิศที่รบก็เก่งรักก็รอบทิศ ให้ถือเป็นลักษณะด้อยของผู้บริหาร ภาครัฐเจอเมื่อใดต้องตัดทิ้งไม่ให้ขึ้นสู่ตำแหน่ง หรือขึ้นมาแล้วแววสุนัขจิ้งจอกออกมา ก็ต้องถูกตัดไม่ให้เป็นผู้บริหารราชการ เพราะใจคอพวกนี้จะคอยแต่งาบลูกน้อง ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เราจะปล่อยให้มีบิ๊กขี้หลีต่อไปไม่ได้ ต้องแก้ที่กิเลสตัณหาของตัวเอง ถ้ายังเสียสละความประพฤติหยาบๆ แบบนี้ไม่ได้ ก็เป็นผู้นำองค์กรเป็นบิ๊กไม่ได้ แนวทางทำงานเรื่องนี้ต้องยึดหลักคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย ไม่ว่าหญิงหรือชายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีทั้งผู้บริหารนักรัก พวกนักไต่เต้า นักเต้าไต่ นายเลี้ยงต้อย รวมทั้งฝ่ายจัดหาประสานประโยชน์ทั้งนั้น ที่บั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนของสตรีไทย" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
นายจรัญกล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กำหนดให้หน่วยราชการทุกแห่งแต่งตั้งผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย ตั้งแต่ปี 2545 พบว่าส่วนใหญ่ตั้งคนไม่เหมาะสมทำงานไม่ได้ ทั้งที่งานสำคัญต้องมาเป็นที่พึ่ง แก้ปัญหาคุกคามทางเพศในองค์กรด้วย อาจเป็นเพราะที่ตั้งมาไม่มีฐานะตำแหน่งชัดเจน ตนอยากเสนอว่าควรให้สิ่งตอบแทน เช่น การประกาศเกียรติคุณ เหรียญตรา โอกาสรับการพิจารณาตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำงานได้ผลจริง
ด้านนายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า ผู้บริหารหน่วยงานรัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะรัฐต้องไม่ใช้อำนาจจากตำแหน่งไปล่วงเกินทางเพศสตรีผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดจากสันดาน ถือเป็นผู้ที่ไม่ควรได้รับส่งเสริมขึ้นเป็นผู้บริหาร รวมทั้งผู้แสวงหาความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่โดยใช้เรือนร่างตัวเอง ส่วนกรณีผู้บริหารของกระทรวงพม.คุกคามทางเพศ ตนก็ได้ยินแต่จากข่าวก่อนมาเป็นรมต. ไม่ทราบว่ามีลักษณะอย่างไร แต่ตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะมีอีก แต่หากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาตนพร้อมตรวจสอบ อย่างไรก็ตามกฎหมายลงโทษมีทั้งทางอาญา วินัย ขึ้นกับผู้ใช้กฎหมายจะเอาจริงหรือไม่ ทั้งนี้ตนเน้นกระทรวงพม.คุ้มครองสิทธิสตรีมากขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการต่อต้านการละเมิดทางเพศและเอาเปรียบผู้หญิง
นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมได้รับร้องขอความช่วยเหลือจากสตรีกรณีถูกละเมิดทางเพศในหน่วยงานรัฐจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาละเมิดทางเพศลูกน้องสาว ที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้าง ซึ่งมีทั้งหลอกลวง ข่มขืน หรือใช้ข้ออ้างไล่ออก โดยเฉพาะเจ้านายกับลูกน้องที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหน้าตาดี จะใช้ข้ออ้างให้ลงพื้นที่ตรวจงานด้วยบ่อยๆ แล้วละเมิดทางเพศโดยหลอกจะบรรจุเป็นข้าราชการ บางรายสามีภรรยาเป็นข้าราชการทั้งคู่ สามีไปมีเพศสัมพันธ์กับลูกน้อง และจะขอเอาผู้หญิงใหม่เข้าบ้านด้วย ภรรยาไม่ยอมก็ขับรถพาภรรยากับลูกไปข่มขู่จะขับตกเหวบ้าง ทุบตีทำร้ายให้ยอมบ้างจนภรรยาต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เรื่องแบบนี้เมื่อร้องเรียนในระบบราชการมักอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หน่วยงานจัดการปัญหาให้ไม่ได้ หากผู้ชายไม่ได้ทำงานเสีย ขณะที่ผู้หญิงลุกมาต่อสู้ต้องเป็นฝ่ายออกจากงาน ต้องอับอายจากการถูกมองเป็นเมียน้อย บางคนสภาพจิตเสียต้องอยู่ร.พ.ถาวรก็มี จากที่ระเบียบราชการไม่คุ้มครองเรื่องคุกคามทางเพศเลย
นายปรีชา นิศารัตน์ ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนัก งานก.พ. กล่าวว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 จะรวมพฤติกรรมคุกคามละเมิดทางเพศไว้ในมาตรา 98 วรรคสอง ว่าเป็นการประพฤติชั่วร้ายแรง ไม่ได้แยกออกมาต่างหาก ซึ่งต้องพิจารณาอีกว่าการมีเมียน้อย ข่มขืน ประพฤติชั่วร้ายหรือไม่ แต่พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 จะกำหนดมาตรา 85 เรื่องความผิดวินัยร้ายแรง โดยเตรียมออกร่างกฎหมายเบื้องต้นเฉพาะเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ 5 กรณี ประกอบด้วย การละเมิดทางเพศโดยการสัมผัสทางกายหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง การละเมิดทางวาจาโดยวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา หยอกล้อหยาบคายก้าวร้าว การละเมิดด้วยท่าทางกิริยา สายตาลวนลามทำสัญลักษณ์ทางเพศ การละเมิดด้วยรูปภาพลามก จดหมายอีเมล์ สื่ออื่นๆ และการละเมิดด้วยพฤติกรรมอันใดอันหนึ่งที่ผู้ถูกกระทำมิพึงปรารถนา เดือดร้อนรำคาญ ถือเป็นความผิดวินัยได้หมด จากนี้จะทำประชาพิจารณ์เพื่อเสนอก.พ.และเข้า ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
"หลายตัวอย่างที่ก.พ.ลงโทษข้าราชการคุกคามทางเพศที่ผ่านมา เช่น พนักงานควบคุมโรค 4 บุกรุกห้องนอนเจ้าหน้าที่การเงิน 5 โดยประทุษร้ายกอดปล้ำหวังข่มขืน ศาลสั่งจำคุกแต่รอลงอาญา ถูกลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน 2 ปลุกปล้ำพยายามข่มขืนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน 2 ที่เป็นหญิงที่บ้านพัก อัยการสั่งฟ้อง โทษปลดออกจากราชการ ผู้คุกคามส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีข้าราชการทั่วประเทศมากกว่าหน่วยอื่น คือ ประมาณ 1 ใน 3 จากนี้เราจะออกเป็นกฎก.พ.ว่าด้วยการคุกคามทางเพศ และก.พ.กำลังทำประมวลจริย ธรรม ตั้งศูนย์จริยธรรมประจำทุกกระทรวงทุกจังหวัดเพื่อให้มีหน่วยงานดูแลปัญหาคุกคามทางเพศโดยตรง" ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงานก.พ.กล่าว
ขณะที่นางผุสดี ตามไท ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นักการเมืองไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องการคุกคามทางเพศ แม้แต่ประมวลจริยธรรมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญกว่าจะบรรจุเรื่องนี้ไว้ก็ยังร่อแร่ และพร้อมจะถูกตัดออกจากประมวลจริยธรรมตลอดเวลา สังคมต้องสร้างมาตรฐานเรื่องนี้เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมนักรักของผู้บริหาร เพราะแม้แต่ไม่สภาเอง ผู้หญิงก็จะถูกมองด้วยสายตาทั้งชื่นชมและกะลิ้มกะเหลี่ยโดยเฉพาะนักการเมืองสาวๆ ต้องระวังว่าจะแต่งตัวอย่างไร วิถีชีวิตอย่างไร บรรยากาศในสภาก็แย่เหมือนกัน แต่ถ้าเราแก่หน่อยจะมีป้อมปราการให้ลุกขึ้นมาทำอะไรได้ แต่ก็จะถูกแซวถูกมองว่าเคลื่อนไหวแต่เรื่องของตัวเอง อยากให้สังคมช่วยกันรณรงค์ให้เกิดมนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน และรู้จักยับยั้งความปรารถนาด้านหยาบให้ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|
แจ้งลบกระทู้นี้
อ่าน 1344 |
|
แสดงความคิดเห็น |
โดย reporter
IP: Hide ip
, วันที่ 07 มี.ค. 52
เวลา 10:50:42
|