กด like เพื่อติดตามข่าวสารดีๆ จาก cmprice.com VVVVVV
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
© เนื้อหาข่าว/กระทู้
รัฐดึงเอกชนร่วมลงทุนแผนกระตุ้นศก.รอบสอง3แสนล. สปส.ขยายเวลาจ่ายเช็ค2พันเพิ่ม ส.-อา.วันธรรมดา2ทุ่ม (มติชนออนไลน์)
รัฐไฟเขียวเอกชนร่วมลงทุนแผนกระตุ้นศก.รอบ 2 วงเงิน 1.4 ล้านล้าน จำนวน 3 แสนล้านจากเดิมแค่ 6-7 หมื่นล้าน เพิ่มโครงการเชิงสังคม ก่อสร้างหอพักตำรวจ เอ็กเซลเลนท์ เซนเตอร์สธ. ไม่ต้องการให้ลูกจ้างหยุดงาน รมว.แรงงานสั่งสปส.ขยายเวลาจ่ายเช็ค 2 พัน เพิ่มเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาถึง 2 ทุ่ม
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (Private Partner ship (PPP) หรือพีพีพี ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นัดแรก ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาหารือประมาณ 3 ชั่วโมง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนโครงการภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ที่จะดำเนินงานในรูปแบบพีพีพี จากที่กำหนดไว้เดิม 5% หรือคิดเป็นวงเงิน 6-7 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 18-19% หรือวงเงิน 3 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มากขึ้น
นายกรณ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่พิจารณาและเสนอโครงการที่เข้าข่ายการดำเนินการรูปแบบพีพีพีเพียงแห่งเดียว เพื่อให้การดำเนินงานมีความคล่องตัว และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ตั้งเรื่องเอง และมักจะมีปัญหาขาดประสบการณ์ในการดำเนินงาน ส่วนโครงการใดที่จะเข้าข่ายการดำเนินงานในรูปแบบพีพีพี จะต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะรูปแบบโครงการมีความแตกต่างกัน รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นอุปสรรคในอดีต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการนำเสนอเรื่อง หรือการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน)
"สำหรับโครงการที่จะเข้าข่ายจะดำเนินการในรูปแบบพีพีพี ที่ผ่านมามักจะเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ ที่มีการใช้บริการและจ่ายค่าบริการ อาทิ รถไฟฟ้า โทรคมนาคม แต่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง จะขยายการลงทุนไปในโครงการเชิงสังคม อาทิ การให้เอกชนลงทุนก่อสร้างหอพักตำรวจ และภาครัฐ เข้าไปเช่าต่อ โดยไม่ต้องลงทุนเอง แต่ในส่วนโครงการที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำคงจะดำเนินการไม่ได้" นายกรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา แต่ถ้าเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามกฎหมายต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติมีบางโครงการที่ดำเนินการในรูปแบบพีพีพี แต่ก็ไม่ต้องเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.ร่วมทุน เหมือนกัน เช่น โครงการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า (ไอพีพี) ที่เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนกันเป็นจำนวนมาก เพราะมั่นใจในสิทธิการเป็นคู่สัญญาขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ เป็นต้น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เสนอตัวอย่างที่เข้าข่ายที่จะใช้รูปแบบพีพีพี เช่น โครงการทางหลวงพิเศษ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงสร้างสร้างหอพักตำรวจ โครงการเอ็กเซลเลนท์ เซ็นเตอร์ ของกระทรวงสาธารณสุข แต่โครงการมือถือ 3 จีนั้น ไม่น่าจะอยู่ในข่ายพีพีพี เนื่องจากเอกชนสามารถขอสัมปทานเพื่อลงทุนเองได้โดยไม่ต้องร่วมลงทุนกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือโครงการก่อสร้างสนามบิน เฟส 2 ที่เชื่อว่าไม่มีเอกชนสนใจร่วมลงทุน
"พีพีพีมีหลายรูปแบบ ทั้งในรูปรัฐลงทุนแต่ให้เอกชนบริหาร หรือจ้างเอกชนเดินรถแล้วแบ่งรายได้ให้รัฐ เป็นต้น ซึ่ง สบน.จะต้องไปหารือกับ สศช. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ในการคัดเลือกโครงการอีกครั้ง" แหล่งข่าวระบุ
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงกรณีที่รัฐบาลจะขยายเพดานการก่อหนี้ภาครัฐมากกว่า 50% ของจีดีพีออกไปอีก 3 ปี ว่า เป็นเรื่องจำเป็น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกชะลอลง และหลายหน่วยงานมองว่าจะไม่ฟื้นตัวในปีนี้ อาจจะเป็น 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น นโยบายการคลังจึงต้องเข้าไปช่วยดูแล เพื่อกระตุ้นให้ความต้องการในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป และการที่รัฐบาลตั้งวงเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่ดี เห็นผลชัดเจนว่าจะลงทุนอะไรในระยะต่อไป ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นได้
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง "งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศไทย" โดยนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลน่าจะกู้เงินประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท มาชดเชยรายจ่ายส่วนเกินและรักษาระดับเงินคงคลังเอาไว้ ซึ่งการกู้เงินเข้าคลังทำได้ไม่ยาก กู้ได้ทั้งพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นด้วย และกังวลเกี่ยวกับโครงการแจกเช็ค 2,000 บาท ซึ่งขัดหลักการ เพราะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สิ่งสำคัญที่จะช่วยได้คือการจ้างงานมากกว่า การแจกเช็ค 2,000 บาท ถือว่าเป็นการซื้อเสียงระยะสั้น ที่คาดว่าอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้
ขณะที่นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในวงวิชาการมีความเห็น 2 ทาง คือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างเรื่องการเอาเงินใส่มือประชาชน 2,000 บาท ฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าควรเอาเงินใส่มือประชาชนที่อยู่ในฐานะยากจนมากๆ จะดีกว่า เพราะจะเอาเงินออกมาใช้จริง แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กลับมองว่าประชาชนจะเอาเงินนั้นออกมาใช้จ่ายจริงหรือ และเกรงว่าไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือคนจนที่สุดจริงๆ เพราะว่าคนที่สามารถประกันตนได้แสดงว่าต้องมีรายได้ ส่วนคนที่จนที่สุดเป็นคนที่อยู่นอกระบบประกันตน
นายสมชัยกล่าวว่า แนวคิดในเรื่องการเอาเงินใส่มือประชาชนที่จนที่สุดได้รับการยอมรับจากธนาคารโลก เอดีบี หรือไอเอ็มเอฟ แต่ส่วนตัวมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัวตอนนี้ โดยเฉพาะการส่งออก การลงทุน และการบริโภค ที่มีปริมาณที่ลดลง เชื่อว่าจีดีพีของไทยต้องติดลบแน่นอน เมื่อจีดีพีติดลบแล้วรัฐบาลไม่ควรจะเน้นการกระตุ้นเพื่อให้จีดีพีกลับมาเป็นบวก แต่ควรจะยอมรับสภาพและเข้าไปดูว่าจีดีพีที่ติดลบนั้นจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนระดับล่างมากน้อยแค่ไหน และพยายามช่วยคนเหล่านั้น
นายธีระ อภัยวงศ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ผู้ดำเนินการออกเช็คช่วยชาติจำนวน 10.5 ล้านฉบับ กล่าวว่า ธนาคารได้ทยอยส่งเช็คช่วยชาติไปตามสาขาธนาคารทั่วประเทศแล้ว โดย สปส.จะรับมอบเช็คที่สาขาธนาคารเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อไป รอบแรกวันที่ 26 มีนาคม รอบต่อไป 31 มีนาคม และรอบสุดท้ายคือวันที่ 3 เมษายน เพื่อให้ทันเทศกาลสงกรานต์ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล
"ธนาคารได้จัดระบบรักษาความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายเช็คมากที่สุด มีการติดตั้งเครื่องจีพีอาร์เอสไว้กับรถขนส่งเพื่อระบุตำแหน่งของรถได้" นายธีระกล่าว และว่า ผู้ที่ได้รับเช็คสามารถนำมาขึ้นเงินได้ที่สาขาของธนาคาร นอกจากนี้ จะมีการตั้งโต๊ะรับแลกเช็คในสถานที่สำคัญ เช่น ลานคนเมือง หรือลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ได้เตรียมการแจกจ่ายเช็คช่วยชาติ ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-8 เมษายนนี้ โดยจะนำไปจ่ายยังสถานประกอบการ 7,500 แห่ง มีผู้ประกันตน 2,361,300 คน จ่ายที่ว่าการอำเภอ 800 แห่ง ผู้ประกันตน 1,071,600 คน และจ่ายที่ สปส.พื้นที่ และ สปส.จังหวัด ศูนย์การค้า 2,700,000 คน นอกจากนี้ ได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 60 ชุด เพื่อจัดส่งเช็คให้ถึงมือผู้ประกันตนตามที่ร้องขอ เบื้องต้นต้องเป็นสถานประกอบการที่มีผู้มีสิทธิรับเช็ค 200 คนขึ้นไป สามารถแจ้งความจำนงได้ที่โทร.0-2526-1959
"ได้สั่งการให้ สปส.เปิดบริการจ่ายเช็คให้กับผู้ประกันตนนอกเวลาราชการในวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วย ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ ได้ขยายเวลารับเช็คถึงเวลา 20.00 น. เนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกจ้างหยุดงาน" นายไพฑูรย์กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
ลิงก์ผู้สนับสนุน
|
|
|
|