บก.ปอศ. จับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ส่งท้ายปีมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าสืบสวนการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ 1,000 แห่ง ย้ำจะดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปในปี 2553...
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการกองบังคับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา บก.ปอศ.ได้เข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ทำธุรกิจด้านโทรคมนาคม ยานยนต์ ออกแบบ สิ่งพิมพ์ ก่อสร้าง และผลิตสินค้า ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบซอฟต์แวร์เถื่อนของอโดบี ออโต้เดสค์ แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ ไมโครซอฟท์ และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เกือบ 300 เครื่อง
พ.ต.อ.ศรายุทธ กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการปิดท้ายปี 2552 ที่การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจดำเนินไปอย่างเข้มข้น เราได้รับแจ้งเบาะแสและหลักฐานเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจในประเทศไทยจะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในปี 2553 ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งให้การลดอัตราการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวาระแห่งชาติ"
ทั้งนี้ ขอบเขตการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ครอบคลุมองค์กรธุรกิจในวงกว้างในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างต้องเร่งดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยหนึ่งในบริษัทที่ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ คือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี ใน จ.นนทบุรี ซึ่งมีซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 34 เครื่อง บริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ใน จ.ชลบุรี ซึ่งพบซอฟต์แวร์เถื่อนสำหรับออกแบบ มูลค่าเกือบ 11.5 ล้าน บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 45 เครื่อง โดยบริษัทดังกล่าวมีชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเกาหลี และมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีชื่อเสียงและเคยได้รับรางวัลมาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีบริษัทใน จ.สมุทรสาคร ที่มีทรัพย์สินเกือบ 4 พันล้านบาท และมีผลกำไรประจำปีเกือบ 200 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นผู้ถือสิทธิบัตรด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์หลายรายการ ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท
รอง ผบก.ปอศ. ยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่าสูงที่พบจะเป็นซอฟต์แวร์ของต่างประเทศ แต่ซอฟต์แวร์ที่พบว่าถูกละเมิดบ่อยที่สุดกลับเป็นซอฟต์แวร์ของไทย โดยกว่า 90% ของการเข้าตรวจค้นจับกุมพบซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทย และมีคนไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยทุกครั้ง
"เนื่องจากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยสูงถึง 76% จึงไม่แปลกที่พบบริษัทหลายต่อหลายแห่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์หลายตัว ซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทยด้วย"
พ.ต.อ.ศรายุทธ กล่าวว่า ความพยายามบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยใช้การพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือ.
ข่าวจาก ไทยรัฐ